ทำเนียบรัฐบาล 6 พ.ค.-เลขา สมช.ยันกรรมการเฉพาะกิจฯ ไม่ซ้ำซ้อนชุดอื่นในศบค. หวังหนุนปฏิบัติงานรวดเร็ว ลดภาระทีมแพทย์ พยาบาล ยืนยันยังไม่เคอร์ฟิว ไม่ล็อกดาวน์ รอสธ.ประเมินหลังครบ 14 วัน
พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีความห่วงใยการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสาม จึงตั้งคณะคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อการบูรณาการด้านการแพทย์และสาธารณสุขขึ้นเพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานของภาครัฐ-เอกชน หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง บูรณาการและสรุปข้อมูลประเด็นต่าง ๆ รายงานต่อนายกรัฐมนตรีโดยตรงตามเวลาที่กำหนด
“หากมีสิ่งใดที่นายกรัฐมนตรีมอบนโนยายเพิ่มเติม จะได้นำไปปฏิบัติต่อไป โดยคณะกรรมการชุดนี้ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกับศูนย์ปฏิบัติการชุดต่างๆ ที่มีในศบค. การตั้งคณะกรรมการเพื่อให้มีอำนาจหน้าที่ตามมกฏหมายเท่านั้น และจะบูรณาการร่วมกันอย่างเต็มที่” เลขาฯสมช. กล่าว
ส่วนกรณีมีข้อสังเกตว่าศบค.แต่งตั้งทหารเข้ามาแก้ปัญหาโรคโควิด-19 แทนที่จะเป็นหน้าที่แพทย์ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ในศบค.มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข มหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานวิจัยและกองทัพไทย ซึ่งงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคและป้องกันการแพร่ระบาดเป็นหน้าที่ของสาธารณสุขโดยตรง ขณะที่หน่วยงานอื่น ๆ จะสนับสนุนงานช่วยเหลือทีมแพทย์อีกชั้นหนึ่ง เพื่อช่วยลดภาระของทีมรักษาพยาบาล โดยจะช่วยบูรณาการและประสานงานให้สอดคล้องกัน เช่น การป้องกันแนวชายแดน ไม่ให้มีการลักลอบเข้าประเทศผิดกฏหมาย
เลขาฯสมช. กล่าวถึงการบริหารจัดการการแพร่ระบาดโควิด-19 จำนวน 15 ชุมชนในกทม.ว่า นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด – 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้น เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยวางโครงสร้างรองรับถึงระดับเขต เพื่อให้การทำงานครบถ้วนสมบูรณ์ ช่วยให้เขตต่าง ๆ สามารถดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าจะใช้ได้ทั้ง 50 เขต
เมื่อถามย้ำว่า หากถึงวันที่ 14 พ.ค.แล้วยอดผู้ติดเชื้อยังพุ่งไม่หยุด จะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร รวมถึงพิจารณาปิดสถานบันเทิงในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า ต้องฟังข้อเสนอจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ซึ่งจะวิเคราะห์และประเมินสาเหตุของการแพร่ระบาดในห้วงเวลานั้น ๆ เพื่อหามาตรการป้องกันที่เหมาะสมต่อไป ขณะนี้จะยังไม่ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว จะพยายามให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด จึงเป็นมาตรการสุดท้าย หากไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้
เลขาฯสมช. กล่าวถึงโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลและแอฟริกา ว่า ฝ่ายความมั่นคงมีมาตรการเฝ้าระวังบริเวณชายแดนอย่างเต็มที่ ไม่ให้รลักลอบเข้าประเทศโดยเด็ดขาด ส่วนที่เดินทางมาอย่างถูกต้องก็จะมีการคัดกรองอย่างเข้มงวด ส่วนในสถานกักกันจากเดิมที่กำหนด 10 วันให้ขยายเป็น 14 วัน และเพิ่มมาตรการติดตามตัวหลังออกจากสถานกักกัน โดยขอความร่วมมือให้กักตัวเองและหลีกเลี่ยงสัมผัสผู้อื่นต่ออีก 14 วัน
“ส่วนแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยนำร่องที่จ.ภูเก็ตวันที่ 1 ก.ค.นั้น จะพยายามดำเนินการให้ได้ตามแผนเดิม แต่เมื่อถึงช่วงเวลาใกล้ ๆ แล้วจะประเมินสถานการณ์อีกครั้งเบื้องต้นจะเร่งฉีดวัคซีนในพื้นที่แพร่ระบาดและพื้นที่เศรษฐกิจ เพื่อให้มีความพร้อมและลดความเสี่ยง” พล.อ.ณัฐพล กล่าว
ส่วนการดูแลเด็กเล็กในโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยเด็กเล็ก เลขาฯสมช. กล่าวว่า ได้แก้ปัญหาต่าง ๆ แล้ว โดยตั้งคณะกรรมการที่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นหน่วยงานหลักดูแลโดยตรง.-สำนักข่าวไทย