สธ. 5 พ.ค.-อธิบดี สบส.ย้ำสถานพยาบาลเอกชนไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโควิด โดยพบปัญหาการเรียกเก็บใน 44 เคส ผู้ป่วย 74 คน ขณะนี้จ่ายเงินคืนครบหมดแล้ว เหลือแค่ผู้ป่วยบางส่วนในเดือน เม.ย.
นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (อธิบดีกรม สบส.) กล่าวถึงค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจหาเชื้อและการรักษาโควิด-19 ว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายในภาวะฉุกเฉินที่ทุกคนในแผ่นดินไทยต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อลดการติดเชื้อไปสู่ผู้อื่น ลดภาวะแทรกซ้อน โดย สบส.ไปนำเสนอต่อคณะกรรมการสถานพยาบาล ให้เป็นกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน และให้ทุกสถานพยาบาล ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และทุกสังกัด ต้องรับรักษาผู้ป่วย
ที่ผ่านมามีการออกประกาศถึง 3 ฉบับ เพื่อมาดูแลค่าใช้จ่ายให้ครอบคลุมตามเกณฑ์เงื่อนไข ตั้งแต่ค่ายา ค่าเครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงล่าสุด ค่ารถรับส่งผู้ป่วยจากบ้าน รวมไปถึงการเจ็บป่วยหลังจากการรับวัคซีนด้วย โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาล สถานพยาบาลเอกชนสามารถเรียกเก็บได้จาก สปสช. และทาง สปสช.จะดำเนินการเรียกเก็บจากกองทุนต่างๆ ภายหลัง หากสถานพยาบาลใดฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษากับผู้ป่วย จะถือว่ามีความผิดตามมาตรา 66 จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบกรณีสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับผู้ป่วย จำนวน 44 เรื่อง ในผู้ป่วย 74 คน เนื่องจากบางครอบครัวเข้าไปรักษาหลายคน ปัจจุบันทาง สบส. และ สปสช.ได้เข้าไปแก้ไขปัญหาและคืนเงินให้กับผู้ป่วยจนครบหมดแล้ว แต่ยังคงเหลือผู้ป่วยของเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม หากประชาชนมีข้อสงสัย สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 และสายด่วน สบส. 1426.-สำนักข่าวไทย