กรุงเทพฯ 5 พ.ค.-เปิดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ “ร.อ.ธรรมนัส” รอดไม่หลุดตำแหน่ง ส.ส.และรัฐมนตรี แม้ต้องคำพิพากษาคดีค้ายาเสพติด แต่เป็นศาลออสเตรเลีย ไม่มีผลตามกฎหมายไทย
ศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ ( 5 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพส.ส.และความเป็นรัฐมนตรีของร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ 170 วรรคหนึ่ง ( 4) ประกอบ 160(6) มาตรา 98 (10) และมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) จากกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกพรรคฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการที่ศาลออสเตรเลียได้มีคำพิพากษาเมื่อเดือนมี.ค. 37 ว่าร.อ.ธรรมนัส มีความผิดฐานนำเข้าและค้ายาเสพติดสั่งคุก 6 ปี แต่จำคุกจริง 4 ปีก่อนถูกเนรเทศกลับประเทศไทย ร.อ.ธรรมนัส จึงเข้าข่ายเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งส.ส.และรัฐมนตรีหรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญระบุเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101 บัญญัติว่าสมาชิกภาพส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ (6) มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 บัญญัติว่าบุคคลต่อไปนี้มีลักษณะต้องห้าม (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออกหรือ ผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยพนัน ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือ หรือเจ้าสำนัก กฎหมายป้องกันการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน ศาลรัฐธรรมนูญมีหนังสือเรียกสำเนาคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 37 และสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 38 และเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องจาก ร.อ.ธรรมนัส ผู้ร้อง ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้ถูกร้อง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทั้ง 3 คน ไม่สามารถส่งสำเนาเอกสารคำพิพากษาดังกล่าวและเอกสารหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งราชการรับรองสำเนาถูกต้อง
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคพลังประชารัฐ และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก่อนลงสมัคร ส.ส. และ ร.อ.ธรรมนัส ยอมรับว่าเคยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งประเด็นสมาชิกภาพ ส.ส. และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เมื่อใด ต้องพิจารณาก่อนว่า คำว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.นั้น หมายถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่ เห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 1 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้น ทางรัฐสภา ครม.และศาลตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ วรรค 2 บัญญัติวารัฐสภา ครม. ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐต้องปฎิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม จากบทบัญญัติดังกล่าว หมายถึง อำนาจอธิปไตยอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือ มีความเด็ดขาด สมบูรณ์ ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น อำนาจอธิปไตยแยกตามลักษณะหน้าที่เป็น 3 ส่วนได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นการใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติ หรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสำคัญคือ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลง ยินยอม ดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี การตีตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทย จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว
นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า ตามหลักอธิปไตยของรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ คำพิพากษาของศาลรัฐใดก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้คำรับรอง คำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรองและบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทางคดีเพ่ง คดีครอบครัวและคดีมรดก สำหรับคดีอาญาอาจได้รับการยอมรับพิจารณาบ้าง ในกรณีส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือการโอนนักโทษ โดยมีเงื่อนไขสำคัญตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพัน ที่จะเคารพและปฎิบัติตามผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคหนึ่งด้วย ดังนั้นทั้งหลักการและหลักปฎิบัติของรัฐเกี่ยวกับการใช้อำนาจตุลาการ จึงได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการและความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา
“เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐหรือประเทศนั้นๆเท่านั้น ไม่หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ตามกฎหมายอาญาของแต่ละประเทศ การกระทำที่เป็นความผิดองค์ประกอบของการกระทำความผิด ฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษ ไว้แตกต่างกันโดยการกระทำอย่างเดียงกันกฎหมายของบางประเทศอาจกำหนดให้เป็นความผิด แต่กฎหมายของไทยอาจไม่กำหนดให้เป็นความผิดก็ได้ อีกทั้งหากตีความว่า เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยอาจทำให้ไม่สามารถกลั่นกรอง หรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบานการพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าว และขัดต่อหลักการต่างตอบแทน กล่าวคือ ศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับหรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทยถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ แม้ข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่า ร.อ.ธรรมนัส เคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลีย ก่อนลงสมัคร ส.ส. แต่มิใช่คำพิพากษาของศาลไทย ร.อ.ธรรมนัส จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(10) สมาชิกสภาพ ส.ส.ของ ร.อธรรมนัสจึงไม่สิ้นสุดลงตามมาตร 101 (6) ประกอบมาตรา 98(10)รวมทั้งความเป็นรัฐมนตรีก็ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) ด้วย
อย่างไรก็ตามในการอ่านคำวินิจฉัยวันนี้ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัยด้วยตนเอง แต่ส่งทนายเดินทางมาแทน ขณะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ร้อง ก็มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เดินทางมารับฟังคำวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้อำนวยความสะดวกแก่สื่อมวลชนด้วยการถ่ายทอดสดภาพ และเสียงการอ่านคำวินิจฉัยมายังบริเวณโถงชั้น 2 และถ่ายทอดผ่านช่องทางยูทูปของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคุมเข้มมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในการลดจำนวนคน และรักษาระยะห่าง พร้อมยึดระเบียบวิธีปฎิบัติของศาลอย่างเข้มงวด .-สำนักข่าวไทย