สำนักข่าวไทย 4 พ.ค. – อธิบดีกรมควบคุมโรค แจงแนวโน้มการรักษาผู้ป่วยโควิดในรพ.ดีขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน พร้อมเผยสถานการณ์โควิดในต่างจังหวัดดีขึ้น พบ 60 จังหวัดป่วยแค่ 20 คน แต่ กทม.และปริมณฑลยังน่าห่วง ป่วยรวมพัน เพราะมีคลัสเตอร์ใหม่ติดในชุมชนแออัด
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค วิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ในไทย พร้อมความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า จากข้อมูลติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 3 พ.ค. 64 มีการฉีดไปแล้ว 1,498,617 โดสใน 77 จังหวัด เข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 1,106,071 คน เข็มที่ 2 ฉีดไปแล้ว 392,546 คน ทั้งจากการเกาะติดสถานการณ์การระบาดทั่วโลกพบว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ชะลอตัวลง สำหรับประเทศไทย ผู้ติดเชื้อวันนี้ 1,763 คน เสียชีวิต 27 คน ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตรวม 303 คน และมีผู้ป่วยปอดอักเสบถึง 1,009 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 311 คน วันนี้มีผู้ป่วยรักษาหาย 1,490 คน เหลือรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 21,453 คน ซี่งแนวโน้มภาพรวมของประเทศ ผู้ป่วยทรงตัวลง ก็พอสบายใจได้บ้างนิดหน่อย แต่งานหนักยังคอยอยู่คือการคัดกรองเชิงรุก
ส่วนในต่างจังหวัดสถานการณ์คงตัวและมีแนวโน้มดีกว่ากทม. และปริมณฑล เนื่องจากพบผู้ป่วยใน 60 จังหวัด ประมาณ 20 คน เท่านั้น โดยการควบคุมโรคในต่างจังหวัด สามารถค้นหาผู้สัมผัส และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี แต่ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ยังพบผู้ป่วยจำนวนมาก รวม 965 คน และเป็นคลัสเตอร์ที่พบในชุมชนแออัด หากแยกเป็นรายจังหวัด พบว่า กทม. พบผู้ป่วย 562 คน ปริมณฑล 394 คน สมุทรปราการ 201 คน หากอยากให้โรคลดลง ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน
ทั้งนี้จากข้อมูลการเปรียบเทียบผู้ป่วยติดเชื้อในสัปดาห์ที่ผ่านมา และสัปดาห์นี้จะเห็นว่า ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อในสัปดาห์ที่แล้ว 12,000 คน รักษาหาย 1,900 คน แต่ผู้ป่วยในสัปดาห์นี้ รับเข้ามารักษา 15,000 รักษาหายแล้ว 7,000 คน มีอัตรารักษาหายเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 95-96 หากสถานการณ์ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น และตัวเลขผู้ป่วยรักษาดีเช่นนี้ คาดว่าไม่เกิน 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์ในรพ.ต่างๆ จะดีขึ้น
นายแพทย์โอภาส กล่าวว่าส่วนสถานการณ์เตียงผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาล พบว่าจากข้อมูลของกรมการแพทย์ที่ได้มีการแบ่งผู่ป่วยออกเป็นกลุ่มสี ผู้ป่วยอาการหนักสีแดง 951 เตียง สีเหลืองอาการไม่รุนแรง 8,626 เตียง และมีการปรับการวินิจฉัยให้ยาเร็วขึ้น ส่วนผู้ป่วยสีเขียว 14,192 เตียง ซึ่งในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนักต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้รองรับได้ 173 เตียง และปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งขยายเตียงไอซียูเพิ่ม ส่วนการตรวจแล็บค้นหาผู้ป่วยตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน (3 พ.ค. 64) มีการตรวจไปแล้ว 4-5 ล้าน ตัวอย่างบางวันตรวจมากถึง 7 หมื่นตัวอย่าง โดยวันที่ 3 พ.ค. มีการตรวจค้นหาผู้ป่วยถึง 41,357 ตัวอย่าง
นอกจากนี้ยังชี้แจงคลัสเตอร์สมุทรปราการที่พบการติดเชื้อในโรงงานผลิตเหล็กแท่ง ในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ ที่เกิดจากการผู้ติดเชื้อทำงานในโรงงาน และเกิดการติดเชื้อในเพื่อนร่วมงาน 2 คน จากนั้นขยายวงกว้างเป็น 100 คน จากโรงงาน และติดในชุมชน เนื่องจากพบว่าการทำงานมีการปะปนกันไม่มีการแยก มีการทำงานร่วมกันหลายแผนก มีการรับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม มีการถอดหน้ากากอนามัย พูดคุยกัน จากการรับประทานอาหารเป็นเวลานาน อีกทั้งโรงงานไม่ได้เคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคโควิด ยังพบการใช้แก้วน้ำดื่มร่วมกันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในวงกว้าง ดังนั้นโรงงานนี้ต้องมีการปิดเพื่อดำเนินมาตรการ และค้นหาผู้ป่วย นี่จึงเป็นสาเหตุที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงได้มีการเน้นย้ำเรื่องมารตรการส่วนบุคคล ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย อย่าใช้สิ่งของร่วมกัน เพราะบางคนพอปิดสถานบันเทิง คนส่วนใหญ่ก็หันมาสังสรรค์เป็นวงขนาดเล็ก กินดื่มร่วมกัน บางคนก็ดื่มน้ำแก้วเดียวกัน เช่นเดียวกับเคส จ.ระนอง ที่พบผู้ป่วยติดเชื้อทำงานใน แพปลา พบปะผู้คนหลายคน การไม่ใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดเป็นสาเหตุให้มีการติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลทางการแพทย์ที่พบการติดเชื้อในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นร้อยละ 54 เป็นการติดเชื้อจากกพฤติกรรม ทั้งในที่ทำงาน ที่บ้าน หากรู้ตัวว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง การพบปะคนจำนวนมาก อยู่ที่บ้านก็ควรสวมหน้ากากอนามัยให้มากที่สุด โดยว่า 2 เคสนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจ หากทุกคนช่วยกันสวมหน้ากากอนามัย มีระยะห่าง หมั่นล้างมือ งดการออกจากบ้าน รวมตัวอยู่กับบ้านก็จะทำให้อัตราการป่วยติดเชื้อในประเทศลดลง.-สำนักข่าวไทย