กรุงเทพฯ 30 ธ.ค. – ธ.ก.ส.คาดปี 60 เศรษฐกิจการเกษตรขยายตัวร้อยละ 3 ตามภาพรวมศก.ฟื้น-ภัยแล้งคลี่คลาย-บาทอ่อนหนุน
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดการณ์เศรษฐกิจเกษตรไทยปี 60 แนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.5-3.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว ส่งผลให้มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าตามแนวโน้มการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ รวมทั้งสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร
เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ด้านผลผลิตพืชคาดว่าขยายตัว โดยสาขาพืชเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในไตรมาสสุดท้ายของปี 59 หลังจากประสบปัญหาภัยแล้ง และปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญอยู่ในระดับสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 60 ผลผลิตพืชเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวนาปีและข้าวนาปรัง
ด้านปศุสัตว์ คาดว่าขยายตัว เนื่องจากการขยายปริมาณการผลิตเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของตลาดที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับปัญหาสภาพอากาศร้อนและแห้งเริ่มคลี่คลายลง ทำให้สัตว์มีการเจริญเติบโตดีขึ้น อาทิ ไก่เนื้อ และสุกร
ด้านประมง คาดว่าขยายตัว เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ขยายการผลิตเพิ่มขึ้นและมีการบริหารจัดการฟาร์มดี อาทิ การใช้พันธุ์กุ้งที่ต้านทานโรคและปรับเปลี่ยนระยะเวลาการเลี้ยงให้สั้นลง ประกอบกับคู่แข่งสำคัญประสบปัญหาโรคระบาด โดยอินเดียประสบปัญหาโรคระบาดในกุ้งและเวียดนามประสบกับปัญหากุ้งที่มีสารเคมีปนเปื้อน
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเกษตรไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่เน้นการปฏิรูปและไม่สนับสนุนการเปิดเสรีทางการค้า ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงมากขึ้นในสินค้าผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลและผลไม้กระป๋องแปรรูป และแนวโน้มราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตภาคเกษตร
ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. คาดว่าปี 60 สินค้าเกษตรที่จะมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ อ้อยโรงงานและน้ำตาลทราย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไก่เนื้อ สุกร และกุ้งขาวแวนนาไม สำหรับสินค้าเกษตรที่คาดว่าราคาจะลดลง ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลัง
ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 60 จะสามารถขยายตัวร้อยละ 3.3 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.8-3.8) โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 1) การขยายตัวของภาคการส่งออก จากแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอินเดีย และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าสำคัญในตลาดโลก จะช่วยให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น 2) การฟื้นตัวของภาคเกษตร และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของฐานรายได้และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนได้มากขึ้น
3) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 60 อาทิ โครงการรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าในเขตเมือง และ 4) ภาคการท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัว ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า จะส่งผลดีต่อการส่งออก
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ปัญหาความอ่อนแอของสถาบันการเงินในยุโรป ปัญหาภาคการเงินและภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน ภาวะเศรษฐกิจจีนชะลอตัว รวมทั้งภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตร- สำนักข่าวไทย