โบลิเวียสั่งขังนายพลก่อกบฏ 6 เดือนโดยยังไม่ไต่สวน

ลาปาซ 29 มิ.ย.- นายพลที่เป็นผู้นำการก่อกบฏในโบลิเวียถูกสั่งคุมขังเพื่อป้องกันไม่ให้ก่อเหตุเป็นเวลา 6 เดือนก่อนที่จะมีการไต่สวน สำนักงานอัยการใหญ่ของโบลิเวียยื่นขอให้คุมขังพลเอกฮวน โฮเซ ซูนิกา เป็นเวลา 6 เดือน และระบุว่าหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐบาล เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนคำขอนี้เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความสำคัญและร้ายแรง การคุมขังเพื่อป้องกันไม่ให้ก่อเหตุตามที่ศาลมีคำสั่ง จะเป็นการสร้างมาตรฐานสำหรับคำตัดสินครั้งต่อไป และเป็นการส่งสัญญาญที่ดีว่า การสอบสวนจะเดินหน้าต่อไป พลเอกซูนิกานำกำลังพลบุกทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงลาปาซเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น และถูกจับกุมในอีกไม่กี่ชั่วโมง เขาถูกตั้งข้อหาก่อการร้ายที่มีโทษจำคุก 15-20 ปี และข้อหาก่อกบฏที่มีโทษจำคุก 5-15 ปี เขาเผยว่า ทำไปตามคำสั่งของประธานาธิบดีลุยส์ อาร์เซ แต่ประธานาธิบดีปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นด้วย.-814.-สำนักข่าวไทย

รัสเซียเริ่มไต่สวนนักข่าวสื่ออเมริกันข้อหาเป็นสายลับ

เยคาเตรินบุร์ก 26 มิ.ย.- รัสเซียเริ่มการไต่สวนแบบปิดกับผู้สื่อข่าวที่ทำงานให้แก่หนังสือพิมพ์อเมริกัน ในข้อหาเป็นสายลับ นายอีวาน เกิร์ชโควิช เป็นชาวอเมริกันวัย 32 ปี มีบิดามารดาเป็นผู้อพยพมาจากอดีตสหภาพโซเวียต เขาทำงานให้แก่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลตั้งแต่ปี 2565 โดยอาศัยอยู่ในรัสเซียมานาน 6 ปีก่อนถูกสำนักงานความมั่นคงรัสเซียจับกุมที่เมืองเยคาเตรินบุร์กเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 อัยการรัสเซียยื่นฟ้องว่า เขารวบรวมข้อมูลข่าวกรองตามคำสั่งของสำนักข่าวกรองกลางหรือซีไอเอ (CIA) ของสหรัฐ  เกี่ยวกับบริษัทแห่งหนึ่งที่ผลิตรถถังให้รัสเซียใช้ทำสงครามในยูเครน หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะถูกจำคุกสูงสุด 20 ปี เกิร์ชโควิช วอลล์สตรีทเจอร์นัล และรัฐบาลสหรัฐยืนยันว่า เขาทำหน้าที่สื่อมวลชนเท่านั้น และมีใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงต่างประเทศรัสเซีย ศาลอนุญาตให้สื่อบันทึกภาพเกิร์ชโควิชเป็นเวลาสั้น ๆ เห็นภาพเขาในสภาพที่ถูกโกนศีรษะ สวมเสื้อเชิ้ตสีเข้มยืนอยู่ในคอกกระจก ยิ้มจาง ๆ และพยักหน้าทักทายคนรู้จัก จากนั้นศาลได้เริ่มการไต่สวนแบบปิด ห้ามสื่อเข้าไปสังเกตการณ์ เกิร์ชโควิชเป็นผู้สื่อข่าวตะวันตกไม่กี่คนที่ยังคงรายงานข่าวจากรัสเซีย ขณะที่สำนักข่าวส่วนใหญ่พากันเรียกตัวผู้สื่อข่าวกลับ ตั้งแต่รัสเซียเริ่มรุกรานยูเครนในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นอกจากเขาแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวสตรีชาวอเมริกันเชื้อสายรัสเซีย 1 คน ถูกจับกุมเมื่อปีที่แล้วและกำลังรอการพิจารณาคดีในข้อหาฝ่าฝืนกฎหมายเป็นตัวแทนต่างชาติ และเผยแพร่ข่าวเท็จเกี่ยวกับกองทัพรัสเซีย.-814.-สำนักข่าวไทย

ก้าวไกล ไม่หมดหวัง​ ลุ้นศาล รธน.​เรียกไต่สวน

ก้าวไกล​ ไม่หมดหวัง​ ลุ้นศาลรัฐธรรมนูญ​เรียกไต่สวน​ เหตุวันนี้ยื่น​หลักฐานประธานกกต. ยอมรับข้ามขั้นตอน​ระเบียบตัวเอง​ ลั่น​ ยังมั่นใจลูกพรรคไม่ต้องเช็กชื่อ​ หลังสะพัดเตรียมไหลออก​ บอก​ ไม่เสียขวัญ​ ยังมีช่องสู้​หลัง “พิธา” แถลง

ศาลโลกเปิดไต่สวนเรื่องอิสราเอลยึดครองปาเลสไตน์

กรุงเฮก 19 ก.พ.- ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกจะเปิดการไต่สวนในวันนี้เรื่องผลทางกฎหมายจากการที่อิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ โดยจะมีตัวแทนรัฐต่าง ๆ มากกว่า 50 รัฐให้การต่อองค์คณะผู้พิพากษา สมัชชาสหประชาชาติได้ร้องขอในปี 2565 ให้ศาลโลกให้ความเห็นที่เป็นการแนะนำหรือไม่มีผลผูกพันต่อการที่อิสราเอลยึดครองดินแดนปาเลสไตน์ การไต่สวนที่เริ่มขึ้นในวันนี้จะดำเนินไปจนถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ คาดว่าองค์คณะผู้พิพากษาจะใช้เวลาหลายเดือนในการพิจารณาก่อนให้ความเห็น โดยในวันนี้นายริยาด อัล-มาลิกิ รัฐมนตรีต่างประเทศปาเลสไตน์จะให้การเป็นคนแรก และมีหลายประเทศเข้าร่วมในการไต่สวน เช่น สหรัฐ จีน รัสเซีย แอฟริกาใต้ อียิปต์ ส่วนอิสราเอลจะไม่เข้าร่วม การไต่สวนนี้เป็นหนึ่งในความพยายามของปาเลสไตน์ที่ต้องการให้สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศตรวจสอบการยึดครองของอิสราเอล ซึ่งกลายเป็นเรื่องเร่งด่วนยิ่งขึ้นหลังจากกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลแบบไม่ทันตั้งตัวเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 และนำมาซึ่งสงครามกาซาที่ดำเนินมาจนถึงขณะนี้ ทั้งนี้แม้ว่าอิสราเอลไม่เคยสนใจความเห็นของศาลโลก แต่ความเห็นครั้งนี้อาจเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองต่ออิสราเอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อิสราเอลกำลังใช้ปฏิบัติการรุกภาคพื้นดินในเมืองราฟาห์  ทางใต้ของฉนวนกาซา สถานที่ลี้ภัยของชาวปาเลสไตน์กว่า 1 ล้านคนที่หนีการสู้รบมาจากพื้นที่อื่นของกาซา อิสราเอลยึดครองเขตเวสต์แบงก์ กาซา และเยรูซาเล็มตะวันออกที่ชาวปาเลสไตน์ต้องการตั้งเป็นรัฐปาเลสไตน์ ในการทำสงครามปี 2510 ต่อมาได้ถอนตัวออกจากกาซาในปี 2548 แต่ยังควบคุมพรมแดนกาซาร่วมกับอียิปต์ที่มีพรมแดนติดกับกาซา.-814.-สำนักข่าวไทย

ศาลโลกจะไต่สวนวันนี้เรื่องอิสราเอลฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซา

กรุงเฮก 11 ม.ค.- ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลกจะเปิดการไต่สวนในวันนี้ในคดีที่แอฟริกาใต้ยื่นเรื่องฟ้องว่าอิสราเอลกำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์ในกาซา ศาลโลกจะเปิดการไต่สวนเป็นเวลา 2 วัน (11-12 มกราคม) ในคดีที่แอฟริกาใต้ยื่นเรื่องเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2566 กล่าวหาอิสราเอลว่า ไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 2491 ที่เริ่มบังคับใช้ในปี 2494 คำฟ้องหนา 84 หน้าของแอฟริกาใต้ระบุว่า อิสราเอลกำลังฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวปาเลสไตน์จากการสังหารชาวปาเลสไตน์ในกาซา ทำให้พวกเขาได้รับอันตรายทางร่างกายและจิตใจ และจากการสร้างสภาพการณ์ที่คำนวณแล้วว่าจะนำมาซึ่งการทำลายทางกายภาพ แอฟริกาใต้และอิสราเอลเป็นภาคีของอนุสัญญานี้ที่นิยามคำว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนาจะทำลายกลุ่มเชื้อชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มสีผิว หรือกลุ่มศาสนาทั้งหมดหรือบางส่วน การไต่สวน 2 วันนี้จะมุ่งพิจารณาเฉพาะเรื่องที่แอฟริกาใต้ร้องขอให้มีมาตรการฉุกเฉินในการสั่งให้อิสราเอลระงับการใช้ปฏิบัติการทางทหารในกาซา ส่วนการไต่สวนเรื่องคดีมีมูลหรือไม่เป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลาหลายปี โฆษกรัฐบาลอิสราเอลแถลงเมื่อวันพุธว่า รัฐอิสราเอลจะขึ้นศาลโลกเพื่อหักล้างการหมิ่นประมาทที่ไร้สาระอย่างยิ่งของแอฟริกาใต้ เนื่องจากแอฟริกาใต้ให้ความคุ้มครองทางการเมืองและทางกฎหมายแก่ระบบฮามาสที่เป็นนักข่มขืน ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลโพสต์ผ่านเอ็กซ์ (X) ว่าอิสราเอลไม่มีเจตนาจะยึดครองกาซาอย่างถาวร หรือขับไล่พลเรือนในกาซา.-814.-สำนักข่าวไทย

สส.รีพับลิกัน เปิดไต่สวนอย่างเป็นทางการเรื่องถอดถอน “ไบเดน”

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรครีพับลิกันเปิดการไต่สวนอย่างเป็นทางการเพื่อถอดถอนประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยรับปากว่าจะหาตัวผู้รับผิดชอบให้ได้ในเรื่องที่พวกเขาสืบสวนเกี่ยวกับการทำธุรกิจของบุตรชายประธานาธิบดีไบเดน

ออสเตรเลียสอบสวนการรับมือโควิด-19

ออสเตรเลียประกาศวันนี้ว่า จะดำเนินการไต่สวนการรับมือกับการระบาดของเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 ที่นำไปสู่การประกาศใช้ข้อจำกัดเข้มงวดเสมือนเป็นป้อมปราการ การใช้มาตรการล็อกดาวน์และการระดมฉีดวัควัคซีนที่เริ่มต้นแบบไม่ราบรื่น

ศาลอินโดนีเซียเปิดไต่สวนคดีโศกนาฏกรรมสนามฟุตบอล

สุราบายา 16 ม.ค.- ศาลอินโดนีเซียเปิดการไต่สวนผู้ต้องหา 5 คนที่ต้องหาประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 135 คน หลังจากตำรวจยิงแก๊สน้ำตาในสนามฟุตบอล ทำให้ผู้คนวิ่งหนีอย่างแตกตื่น และหลายคนถูกเบียดจนขาดอากาศหายใจเสียชีวิต ผู้ต้องหา 5 คนประกอบด้วยตำรวจ 3 นายที่อนุญาตหรือสั่งให้ตำรวจใช้แก๊สน้ำตา ประธานคณะกรรมการบริหารสโมสรฟุตบอลอาเรมา และหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย อัยการตั้งข้อหาประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายทางร่างกาย มีโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ทางการเมืองสุราบายาได้วางกำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 1,600 นายรอบศาลแขวงสุราบายา และห้ามแฟนสโมสรอาเรมาเดินทางเข้าเมืองในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีเพื่อเลี่ยงการปะทะกับแฟนเปอร์เซบายา สุราบายาที่เป็นคู่แข่งกัน โศกนาฏกรรมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่เมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออกถือเป็นภัยพิบัติการกีฬาครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำตาเมื่อแฟนฟุตบอลพากันลงไปในสนาม หลังจากสโมสรอาเรมาแพ้คาบ้านเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปีให้แก่สโมสรเปอร์เซบายา สุราบายาที่เป็นทีมเยือน การแข่งขันนัดนี้มีแต่แฟน ๆ ของเจ้าบ้าน เนื่องจากผู้จัดไม่อนุญาตให้แฟน ๆ ของทีมเยือนมาชมเพราะเคยเกิดเหตุแฟนต่างสโมสรปะทะกันมาก่อน ตำรวจระบุว่า การลงสนามเป็นการก่อลาจล และมีตำรวจถูกสังหาร 2 นาย แต่คนในสนามกล่าวหาตำรวจว่า ใช้กำลังเกินกว่าเหตุ ตำรวจอย่างน้อย 11 […]

กัมพูชาเริ่มไต่สวนฝ่ายค้าน 37 คนข้อหากบฏ

พนมเปญ 15 ก.ย.- กัมพูชาเปิดการไต่สวนข้อหากบฏกับนักเคลื่อนไหวและอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติพรรคฝ่ายค้านรวม 37 คนที่ถูกกล่าวหาว่าพยายามช่วยเหลือนักการเมืองลี้ภัย แต่มีจำเลยมาขึ้นศาลเพียง 3 คนเท่านั้น ทนายความจำเลยเผยว่า นายสม รังสี อดีตผู้นำฝ่ายค้านและแกนนำหลายคนของพรรคกู้ชาติกัมพูชาหรือซีเอ็นอาร์พี (CNRP) ที่ถูกยุบไปแล้ว อยู่ในกลุ่มจำเลยที่ไม่มาขึ้นศาลแขวงพนมเปญ บางคนลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศ บางคนหลบซ่อนตัวเพราะคิดว่าเป็นการรังควานทางการเมือง จำเลยทั้ง 37 คน ถูกตั้งข้อหาคบคิดกันก่อกบฏ หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจะมีโทษจำคุก 5-10 ปี คดีนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความพยายามจัดการให้นางมู ซกโฮ อดีตรองประธานพรรคซีเอ็นอาร์พี กลับกัมพูชาในเดือนมกราคม 2564 แต่ไม่เป็นผล นับเป็นครั้งที่ 3 แล้วที่ศาลกัมพูชาแห่งนี้เปิดการไต่สวนคดีที่เกี่ยวกับความพยายามพาแกนนำฝ่ายค้านกลับประเทศ มีจำเลยรวมกันเกือบ 130 คน แต่ส่วนใหญ่ไม่เคยมาขึ้นศาล ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม ศาลตัดสินให้จำเลย 21 คน ซึ่งมีนายสม รังสีรวมอยู่ด้วยมีความผิด และตัดสินจำคุก 5-10 ปีในข้อหากบฏและข้อหาคบคิดกันก่อกบฏและยุยงให้กระทำความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ ต่อมาในเดือนมิถุนายนศาลตัดสินให้นางเทียรี เซ็ง ทนายความชาวกัมพูชาสัญชาติอเมริกันและผู้สนับสนุนฝ่ายค้าน 60 คนมีความผิดในข้อหากบฏและตัดสินจำคุก 5-8 ปี สองคดีแรกนี้เกี่ยวข้องกับความพยายามพานายสม […]

จีนไต่สวนนักข่าวออสเตรเลียที่ถูกจับเกือบ 2 ปีก่อน

ปักกิ่ง 31 มี.ค.- ศาลกรุงปักกิ่งของจีนเปิดการไต่สวนเป็นการภายในกับนางเฉิง เหล่ย ผู้สื่อข่าวและอดีตผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ชาวออสเตรเลียเชื้อสายจีนที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 ข้อหาขโมยความลับของรัฐให้แก่ต่างชาติ นายแกรแฮม เฟล็ตเชอร์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำจีนเผยกับสื่อหน้าห้องพิจารณาคดีในวันนี้ว่า เขาและเจ้าหน้าที่ออสเตรเลียไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฟังการไต่สวน ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล น่าผิดหวัง และน่าเสียใจอย่างยิ่ง ออสเตรเลียไม่สามารถให้ความเชื่อถือกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างลับ ๆ และจะเดินหน้าสนับสนุนสิทธิของนางเฉิงอย่างแข็งขันต่อไป ส่วนเรื่องสุขภาพของเธอขณะนี้ดีขึ้นแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวว่าไม่แข็งแรงในช่วงที่ถูกควบคุมตัว ด้านทนายความเผยว่า เธอแข็งแรงดีทั้งกายและใจ เอกอัครราชทูตออสเตรเลียเผยด้วยว่า ได้ขอให้ศาลจีนอนุญาตให้เธอได้พูดคุยกับลูก ๆ เพราะขาดการติดต่อไปตั้งแต่ถูกควบคุมตัว ครอบครัวที่ออสเตรเลียออกแถลงการณ์เมื่อวานนี้ว่า ลูก ๆ 2 คนและบิดามารดาวัยชราคิดถึงเธอเหลือเกิน หวังว่าเธอจะได้กลับมาพร้อมหน้าครอบครัวโดยเร็วที่สุด นางเฉิง วัย 46-47 ปี เป็นผู้ประกาศข่าวของซีจีทีเอ็น (CGTN) ซึ่งเป็นสถานีกระจายเสียงแพร่ภาพเป็นภาษาอังกฤษของทางการจีนในกรุงปักกิ่งมาตั้งแต่ปี 2555 เธอหายไปจากหน้าจออย่างกะทันหันในเดือนสิงหาคม 2563 โดยที่ญาติมิตรไม่สามารถติดต่อได้ และประวัติการทำงานถูกลบออกจากเว็บไซต์ของซีจีทีเอ็น ทางการจีนประกาศในเบื้องต้นว่า เธอถูกควบคุมตัวในข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติ ต่อมาประกาศจับกุมเธออย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ข้อหาเป็นจารชน ด้านออสเตรเลียเผยว่า ตัวแทนทางการได้รับอนุญาตให้พบเธอเพียงเดือนละ 1 ครั้ง นักวิเคราะห์ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลียและจีนที่เสื่อมถอยลงในช่วงหลายปีมานี้ทำให้การเจรจาเพื่อขอให้จีนปล่อยตัวเธอเป็นไปได้ยากขึ้น.-สำนักข่าวไทย

อดีตนายกฯ อังกฤษหนุนตั้งศาลสากลไต่สวน “ปูติน”

ลอนดอน 19 มี.ค.- อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 2 คน คือ กอร์ดอน บราวน์ และ เซอร์ จอห์น เมเจอร์ สนับสนุนให้ตั้งศาลระหว่างประเทศขึ้นไต่สวนประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กรณีรุกรานยูเครน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษทั้ง 2 คน รวมอยู่ในกลุ่มนักวิชาการ ทนายความ และนักการเมือง ประมาณ 140 คน ที่ลงนามในคำร้องให้ตั้งระบบยุติธรรมแบบเดียวกับศาลนูเรมเบิร์กที่ตั้งขึ้นไต่สวนอาชญากรสงครามนาซี หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีบราวน์ วัย 71 ปี เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดลีเมลว่า การตั้งศาลระหว่างประเทศจะช่วยปิดช่องโหว่ในกฎหมายสากลที่ปูตินสามารถใช้หลบเลี่ยงความยุติธรรมได้ เรื่องนี้ต้องรีบดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ชาวยูเครนว่า ทุกคนตั้งใจทำจริง ไม่ใช่เพียงคำพูดปลอบใจ และต้องทำให้พรรคพวกของปูตินตระหนักว่า หากไม่รีบออกห่างจากปูติน ก็จะถูกดำเนินคดีและคุมขังเช่นเดียวกัน คำร้องนี้มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแล้วราว 740,000 คน หลายคนหวังว่า จะช่วยเสริมการทำงานของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี (ICC) ที่กำลังไต่สวนปูติน ข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน แต่ถูกมองว่ามีอำนาจจำกัดเพราะไม่สามารถดำเนินคดีได้ หากไม่มีการส่งเรื่องมาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอสซี ที่รัสเซียมีสิทธิยับยั้งหรือวีโต้ในฐานะสมาชิกถาวร.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 6
...