กรุงเทพฯ 1 ม.ค.-นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของไทยให้ครบทั้ง 77 จังหวัด และส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI ไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดสินค้า GI ไทยที่ศักยภาพนั้น และสำหรับแผนในปี 2560 กรมทรัพย์สินทางปัญญามีแผนประชุมส่งเสริมการขึ้นทะเบียนหนึ่งจังหวัดหนึ่งสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้า อีก 6 จังหวัด ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร, นิลเมืองกาญจน์ จ.กาญจนบุรี, ปลาช่อนแม่ลา จ.สิงห์บุรี, จำปาดะ จ.สตูล, น้ำแร่เมืองนอง จ.ระนอง และหอยชักตีน จ.กระบี่ เป็นต้น โดยกรมฯ ได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเหล่านี้แล้ว คาดว่าจะจัดประชุม ลงพื้นที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จอย่างเร็วภายในกลางปี 2560 สำหรับสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้วมี 51 จังหวัด 71 สินค้า และจังหวัดที่ยังไม่ได้มีการขึ้นทะเบียน GI 26 จังหวัด เช่น สังคโลกสุโขทัย (จ.สุโขทัย) กระท้อนตะลุง (จ.ลพบุรี) ทุเรียนสาลิกาพังงา (จ.พังงา) สับปะรดตราดสีทอง (จ.ตราด) เป็นต้น
นางอภิรดีกล่าาวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มอบหมาย ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว พร้อมเดินทางเข้าพื้นที่ร่วมประชุมกับเกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 20 ราย และเยี่ยมชมสวนของเกษตรกรในสินค้า 2 ชนิด คือ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว และชมพู่เพชรคลองหาด ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางจังหวัดได้คัดเลือกแล้วว่ามีชื่อเสียงและมีศักยภาพสูงของจังหวัดสระแก้ว ซึ่ง นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกสำรวจพื้นที่การปลูกสินค้าและให้คำแนะนำเพื่อให้มีการขึ้นทะเบียน GI เป็นผลไม้มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้วและชมพู่เพชรคลองหาด รวมถึงรับทราบปัญหาในการขึ้นทะเบียน เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐที่ครอบคลุมพื้นที่ได้รับความรู้ความเข้าใจ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรับคำขอการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับสมาชิกผู้ขอใช้ GI และการจัดทำแผนควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้การใช้ GI เป็นเครื่องมือทางการค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด
สำหรับ 2 สินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติ และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นผลมาจากแหล่งผลิต ตามสภาพภูมิอากาศ หรือ ปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่ อาทิ มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว เป็นพันธุ์น้ำดอกไม้สีทอง เมื่อโตเต็มที่ผลจะมีน้ำหนักเฉลี่ยระหว่าง 300 – 500 กรัม ผลเป็นรูปกลมรีและยาว ทรงผลสวย สีเหลืองนวล เนื้อเยอะ เนื้อแน่นไม่เละ เมล็ดลีบบาง รสชาติหวานหอม ไม่มีเสี้ยนในเนื้อ นิยมรับประทานแบบสุก โดยการเก็บผลแก่มาบ่มจนสุกเพื่อรับประทานกันข้าวเหนียวมูลจะได้รสชาติหวาน อร่อย ปัจจุบันมีการควบคุมคุณภาพด้วยระบบการตรวจสอบย้อนกลับตามมาตรฐาน GAP ครอบคลุมพื้นที่ทุกอำเภอใน จ.สระแก้ว โดยสถิติการส่งออกมะม่วงทุกสายพันธุ์ในปี 57 มีมูลค่าประมาณ 1,265 ล้านบาท ปี 58 มูลค่า 1,211 ล้านบาท สำหรับ 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกราว 1,098 ล้านบาท
ส่วนชมพู่เพชรคลองหาด เป็นชมพู่ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ผสานของชมพู่ 5 สายพันธุ์ อาทิ ทูลเกล้าเพชรสามพราน เพชรจินดา เพชรน้ำผึ้ง และมานารากี มีลักษณะโดดเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงระฆังคว่ำ เอวคอดในฤดูหนาวผิวชมพู่จะมีสีแดงเลือดนกตลอดผล เนื้อแน่น รสหวาน กรอบ เนื้อในเมื่อผ่าออกมาจะตัน มีสีเขียวอ่อนมีความหวานสูงถึง 12.5 บริกซ์ ผลโต น้ำหนักดี มีการเพาะปลูกครอบคลุมพื้นที่ 5 อำเภอจาก 9 อำเภอในสระแก้ว อาทิ คลองหาด เขาฉกรรจ์ วัฒนานคร และอรัญประเทศ คุณลักษณะเฉพาะนี้ จึงทำให้ชมพู่เพชรคลองหาดได้รับ ความนิยมไม่เฉพาะในประเทศ แต่เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศด้วย อาทิ อินโดนีเซีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ไม่น้อยกว่าปีละ 400 ตัน ทั้งนี้ในปี 58 การส่งออกชมพู่รวมทุกสายพันธุ์จากไทยไปต่างประเทศมีมูลค่าราว 128 ล้านบาท โดย 10 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.) ส่งออกราว 107 ล้านบาท-สำนักข่าวไทย