กรุงเทพฯ 8 เม.ย. – บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) มั่นใจ แผนส่งเสริมอีวีของไทยไม่กระทบ คาดก๊าซฯ ขายได้เพิ่มขึ้น ส่วนโครงการในเมียนมายังผลิตก๊าซฯ ได้ปกติ
ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ผู้ถือหุ้นแสดงความเป็นห่วงอนาคต หลังจากโลกเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยียานยนต์ที่ใช้น้ำมันไปสู่การใช้ไฟฟ้า หรืออีวี รวมทั้งการลงทุนของ ปตท.สผ.ในเมียนมา นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ประธานกรรมการ ปตท.สผ. ชี้แจงว่าในเรื่อง อีวี ไม่กระทบ เพราะผลผลิตหลักของ ปตท.สผ. คือ ก๊าซธรรมชาติไม่ใช่น้ำมัน ในขณะที่อีวีจะมีการใช้มากขึ้นใน 10-15 ปีข้างหน้า เช่น ในไทยวางแผนวางเป้าหมายจำหน่ายอีวีในประเทศในปี 68 รวม 1,051,000 คัน และก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงหลักในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งนโยบายของ ปตท.สผ. คือ เน้นการผลิตก๊าซฯเพิ่มมากขึ้น และยังทำแผนลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หลายรูปแบบ เช่น การกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือคาร์บอน แคปเจอร์ เป็นต้น
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ. กล่าวว่า โครงการลงทุนในเมียนมา ทาง ปตท.สผ. มีการร่วมดำเนินธุรกิจมาประมาณ 30 ปี ตามพันธกิจเดียวกับรัฐบาลคือ สร้างความมั่นคงพลังงานควบคู่สร้างคุณค่ายั่งยืนให้กับทุกฝ่าย มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านปิโตรเลียมให้กับชาวเมียนมา มีการจ้างงานต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวเมียนมา ปัจจุบันการผลิตปิโตรเลียมยังคงรักษากำลังผลิตต่อเนื่อง ตามหน้าที่และสัญญาที่ผูกพันระหว่างรัฐบาล โดย ปตท.สผ. ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน ความมั่นคง และยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติเป็นสำคัญ ส่วนโครงการแผนผลิตไฟฟ้าตามโครงการ GAS TO POWER ในขณะนี้ก็อยู่ระหว่างทำแผนงานโดยรวม โดยตามกำหนดการ คือ จะมีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายในปี 2565
สำหรับการระบาดของโควิดปี 63 ก็ส่งผลต่อบริษัท เพราะราคาน้ำมันผันผวนอย่างหนัก การใช้พลังงานลดลง โดยช่วงก่อนโควิดราคาน้ำมันราว 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แล้วลดลงอย่างรวดเร็วเหลือประมาณ 20 เหรียญ/บาร์เรล แล้วค่อยทยอยปรับขึ้น
ทำให้บริษัทพลาดเป้าหมายปริมาณการขายจากเดิมตั้งที่ประมาณ 390,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เหลือ 350,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เพราะปริมาณการเรียกรับก๊าซจากโครงการในอ่าวไทยลดลง
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับแผนดำเนินการรับวิกฤติไม่ว่าจะเป็นการให้พนักงานทำงานที่บ้านลดการติดเชื้อ โครงการช่วยเหลือสังคม การดำเนินการทางการเงินให้มีสภาพคล่องที่ดี พร้อมปรับกลยุทธ์ธุรกิจ หลักๆ เช่น การเลือกลงทุนโครงการที่มีศักยภาพ ซึ่งมีการร่วมทุนและค้นพบแหล่งใหม่ในมาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเน้นรักษาระดับการผลิต ลดต้นทุนต่อหน่วย บริหารความเสี่ยงผลกระทบจากราคาน้ำมันผันผวน รวมทั้งลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ ด้านนวัตกรรม เช่น หุ่นยนต์และโดรน เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน บริษัทยังร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจด้านจ่ายเงินปันผล โดยจ่ายระหว่างกาลปี 63 ไปแล้ว 1.50 บาท/หุ้น และเหลือจ่ายอีก 2.75 บาท/หุ้น กำหนดจ่ายวันที่ 26 เม.ย. 64 -สำนักข่าวไทย