กรุงเทพฯ 22 พ.ย. – ปตท.หวั่นประมูลบงกช-เอราวัณ กระทบแอลพีจีและกำลังผลิตก๊าซฯ ลดฮวบช่วง 3 ปีหลังหมดอายุสัมปทาน เผยเตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมีปีหน้า โอน 6-7 บริษัทให้พีทีทีจีซี ขณะที่ การแยกธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะทำให้รัฐได้ภาษีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30,000 ล้านบาท
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือซีอีโอ กล่าวว่า ขณะนี้ยังเชื่อมั่นว่ากระทรวงพลังงานจะจัดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุสัมปทานปี 2560 ได้ แม้ว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม อาจจะพิจารณาล่าช้าไปบ้าง โดยหากประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณไม่ทันปี 2560 จะเกิดปัญหาต่อการวางแผนการลงทุนของเอกชน และจะส่งผลให้ปริมาณก๊าซจาก 2 แหล่งลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปี หลังจากหมดอายุสัมปทานจนน่าเป็นห่วง จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิต 2,100 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน
นายนพดล ปิ่นสุภา รองกรรมผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซ ธรรมชาติ ปตท.กล่าวว่า ผลกระทบทางกระทรวงพลังงานกำลังติดตาม โดยที่น่าเป็นห่วง คือ ก๊าซแอลพีจีปัจจุบันผลิตจากโรงแยกก๊าซครึ่งหนึ่งของความต้องการใช้จะหายไปกระทบผู้บริโภค ในส่วนของปิโตรเคมีทางบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (พีทีทีจีซี) เตรียมผลิตจากน้ำมันทดแทนอยู่แล้ว ขณะที่การนำเข้าแอลเอ็นจีทดแทน ทาง ปตท.ได้เร่งทุกโครงการ ทั้งสถานีนำเข้าแห่งที่ 1 และ 2 โดยภายในปี 2565 จะนำเข้ารวม 19 ล้านตัน หรือประมาณ 2,600 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน ส่วนความต้องการก๊าซธรรมชาติปี 2560 คาดจะใกล้เคียงปี 2559 ที่ประมาณ 4,900 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน เนื่องจากความต้องการเอ็นจีวีลดลง ขณะที่ความต้องการก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าของเอสพีพีจะมีปริมาณสูงขึ้น
“ปตท.เร่งเดินหน้าโครงการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะการสร้างคลังแอลเอ็นจี 1และ 2 ในส่วนของคลังที่ 1 รับ 10 ล้านตันจะเสร็จต้นปี 2560 และส่วนขยายอีก 1.5 ล้านตันจะเสร็จปี 2562 ส่วนคลังแห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตัน จะเสร็จปี 2565 เงินลงทุนส่วนนี้กว่า 30,000 ล้านบาท” นายนพดล กล่าว
นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างเตรียมแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ ทั้งค้าปลีกน้ำมันและปิโตรเคมี โดยในส่วนของปิโตรเคมีจะมีการโอนธุรกิจสายปิโตรเคมีประมาณ 6-7 บริษัทให้กับพีทีทีจีซีภายในปี 60 โดยว่าจ้างให้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ทำการศึกษา นับเป็นการจัดพอร์ตใหม่เพื่อให้ห่วงโซ่ (value chain) ธุรกิจมีความต่อเนื่อง และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันหลังราคาน้ำมันตกต่ำ บริษัทที่โอนไปเช่น บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด (HMC) ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกที่ ปตท.ถือหุ้นร้อยละ 40 บริษัทด้านโลจิสติกส์ และการตลาดต่าง ๆ ซึ่งเบื้องต้น ปตท.จะต้องทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นรายอื่นในบริษัทเหล่านี้ ตลอดจนเจ้าหนี้ต่าง ๆ ด้วย
“พีทีทีจีซีจะเป็นเรือธง (Flagship) สายธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท. การโอนบริษัทย่อยออกไปให้ ก็จะทำให้ ปตท.มีรายได้จากการขายกิจการดังกล่าวแล้ว แต่ ปตท.ก็ยังมีภาระทางภาษีในการโอนกิจการดังกล่าวให้กับภาครัฐด้วยเช่นกัน” นายสรัญ กล่าว
นายสรัญ กล่าวด้วยว่า สำหรับขั้นตอนการปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกของกลุ่ม ปตท. โดยการโอนธุรกิจในกลุ่มให้กับบริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (พีทีทีโออาร์) หลังจากได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ปตท.ก็เตรียมที่จะนำเสนอเรื่องต่อกระทรวงพลังงานและหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ ตามขั้นตอน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะนำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นประมาณเดือนเมษายน 2560
“หลังจากผู้ถือหุ้นอนุมัติแล้วจะใช้เวลาอีกประมาณ 1-2 เดือนในการโอนทรัพย์สิน และรอให้พีทีทีโออาร์ปิดงบอย่างน้อย 1 ไตรมาส ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2560 ที่ประกาศในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน 2560 หลังจากนั้นจะสามารถยื่นแบบเสนอขายหุ้น (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ โดยตามขั้นตอน ก.ล.ต.ปกติใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน เพื่อเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (ไอพีโอ)” นายสรัญ กล่าว
นายสรัญ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก นอกจากจะทำให้กลุ่ม ปตท.ได้รับประโยชน์จากความชัดเจนและความคล่องตัวในการขยายงานของธุรกิจโดยเฉพาะในต่างประเทศ ในส่วนของภาครัฐจะได้รับประโยชน์จากภาษีการโอนกิจการ ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าภาษีสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่ารวมของธุรกิจจะมากขึ้นด้วย จากปกติ ปตท.มี P/E ที่ระดับ 8-9 เท่า แต่ P/E ของธุรกิจค้าปลีกโดยทั่วไปมีระดับสูงถึง 18-20 เท่า.-สำนักข่าวไทย