กรุงเทพฯ 22 ก.พ. – ปตท.ย้ำแยกโอน 6 บริษัทในเครือให้พีทีทีจีซีตามแผนปรับโครงสร้างและขยายลงทุนรับอีอีซี พร้อมเล็งลงทุนใหม่ในธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรม และธุรกิจครบวงจรแอลเอ็นจี-ไฟฟ้า ตั้งงบลงทุน 5 ปี พร้อมงบสำรองหาโอกาสลงทุนรวมถึง 5.37 แสนล้านบาท
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลกำลังพิจารณาจะใช้มาตรการภาษีจูงใจการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC ) โดยนักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานในพื้นที่สามารถเลือกอัตราเสียภาษีบุคคลธรรมดาได้ว่าจะเสียภาษีตามโครงสร้างปกติของประเทศไทย หรือเลือกเสียภาษีแบบคงที่ในอัตราร้อยละ 17 ว่าเป็นเรื่องที่ดีที่จะจูงใจการลงทุน ขณะที่ ปตท.และบริษัทในเครือ เช่น บมจ.พีทีทีโกลบอลเคมิคอล (พีทีทีจีซี ) บมจ.ไทยออยล์ ก็เตรียมพร้อมที่จะลงทุนในอีอีซีเช่นกัน
“ปตท.ปรับโครงสร้างธุรกิจปิโตรเคมี โดยโอน 6 กิจการปิโตรเคมีและอีก 1 โครงการให้กับพีทีทีจีซี ทำให้เกิดพลังร่วม (Synergy) ในธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท.มีความยืดหยุ่นในการรับวัตถุดิบ (feedstock) และยังเป็นการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล ทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีขั้นสูงและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงในพื้นที่ อีอีซี” นายเทวินทร์ กล่าว
ทั้งนี้ บอร์ด ปตท.เห็นชอบงบลงทุน 5 ปี (2560 – 2564) มูลค่า 338,849 ล้านบาท โดยจำนวนดังกล่าวนั้นรวมการเพิ่มทุนในบริษัทลูก เพื่อปรับโครงสร้างการลงทุนแล้ว นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังได้อนุมัติงบสำรองลงทุน (Provision) 198,612 ล้านบาท เพื่อเตรียมสำหรับความต่อเนื่องของการผลิตในสัมปทานที่จะหมดอายุ การพัฒนาโครงการแอลเอ็นจีที่จะส่งมาประเทศไทย โครงการลงทุนที่ต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากกิจการปัจจุบัน และโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ในธุรกิจนวัตกรรมและอื่น ๆ
“งบสำรองลงทุนยังตั้งไว้สำหรับการแยกกิจการ ธุรกิจน้ำมันออกมาเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและค้าปลีก หรือ PTTOR เพื่อเป็นทุนนำมาซื้อสินทรัพย์ที่จะรับโอนจาก ปตท.และ ปตท.ยังมีแผนจะลงทุนด้านนวัตกรรม ทั้งในและต่างประเทศ ธุรกิจแบตเตอรี่ และธุรกิจไฟฟ้า โดยดูไปถึงการลงทุนครบวงจรในธุรกิจแอลเอ็นจี และธุรกิจไฟฟ้า” นายเทวินทร์ กล่าว
นายเทวินทร์ กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจแอลเอ็นจีครบอยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกับ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ที่ร่วมทุนในแหล่งก๊าซประเทศโมซัมบิก ซึ่ง ปตท.พร้อมจะรับซื้อแอลเอ็นจีส่วนนี้กลับมาใช้ในไทยประมาณ 2 ล้านตัน/ปี คาดจะเริ่มผลิตได้ปี 2565-2566 และทาง ปตท. ยังสนใจที่จะเข้าร่วมทุนในโครงการแอลเอ็นจี SK 316 ในประเทศมาเลเซีย หากปิโตรนาสต้องการหาผู้ร่วมทุน
ทั้งนี้ ปตท.ตั้งเป้าลงทุนหลักในงบลงทุน 5 ปี อนุมัติแล้วในโครงสร้างพื้นฐานร้อยละ 43 ปรับโครงสร้างการเงินร้อยละ 22 ธุรกิจแอลเอ็นจีร้อยละ 14 ธุรกิจน้ำมันและเทรดดิ้งร้อยละ 12 ธุรกิจก๊าซธรรมชาติร้อยละ 4 บริษัทย่อยและบริษัทร่วมค้าร้อยละ 4 และอื่น ๆ ร้อยละ 1 ตามลำดับ โครงการขนาดใหญ่ เช่น ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 มูลค่า 93,337 ล้านบาท และโครงการแอลเอ็นจีเทอร์มินัล แห่งที่ 2 มูลค่า 38,171 ล้านบาท เป็นต้น ในการนี้ ปตท.ได้บรรลุการเจรจาสัญญาระยะยาวการจัดหาแอลเอ็นจี กับบีพี (BP) 1 ล้านตัน/ปี เชลล์ (Shell) 1 ล้านตัน/ปี และปิโตรนาส (Petronas) 1.2 ล้านตันต่อปี โดยผลการเจรจากับ BP และ Shell ทำให้ลดต้นทุนการนำเข้าแอลเอ็นจี ตลอดอายุสัญญาได้ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยจะเริ่มนำเข้าประมาณเดือนเมษายนนี้ พร้อมเร่งดำเนินการขยายคลังรับแอลเอ็น แห่งที่ 1 จาก 5 ล้าน เป็น 10 ล้านตันต่อปี เริ่มใช้งานได้ปี 2560 และได้รับมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติขยายเป็น 11.5 ล้านตันต่อปีในปี 2562 รวมถึงอนุมัติการก่อสร้างคลังรับแอลเอ็นจี แห่งที่ 2 อีก 7.5 ล้านตันต่อปี ให้เสร็จในปี 2565. – สำนักข่าวไทย