กรุงเทพฯ 15 ธ.ค. – ผู้บริหารปตท.ชี้ ยังมี 4 ปัจจัยที่ธุรกิจพลังงานจะต้องรับมือในปี 2560 ทำให้ต้องปรับแผนงานเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา “เจาะลึกเศรษฐกิจและการเงินไทยในปี2017″ ว่า ในปี 2560 ธุรกิจพลังงาน จะเผชิญกับความท้าทายใน 4 เรื่อง คือ 1.ความผันผวน ที่จะเกิดขึ้นกับราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาน้ำมันดิบจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว จากความร่วมมือของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(โอเปก) และกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกโอเปก(นอนโอเปก) ที่มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.นี้ รวมประมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่นอนโอเปก ตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น
นายเทวินทร์ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว โดยปตท.ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบในปี 2560 จะอยู่ในกรอบ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยปีนี้ กว่า 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และมองว่า ราคาน้ำมันดิบที่ระดับกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล น่าจะเป็นระดับที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยหากรัฐบาลไม่มีนโยบายปรับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และอัตราการส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ น่าจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในปีหน้าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบันได้
ส่วนความท้าทายที่ 2 คือ เรื่องเทคโนโลยี ที่จะเข้ามากระทบต่อโมเดลของธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างจัดทำแผนการดำเนินงานในปี 2560 ให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และคำนึงถึงผลกระทบจากเทคโนโยลีที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยาก เพราะเศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งการวางแผนการลงทุนในระยะยาว อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่สูงขึ้น
ขณะที่ความท้ายที่สาม คือ ความซับซ้อน ที่เกี่ยวข้องระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์ ทำให้กระทบต่อแผนการพัฒนาพลังงานในอนาคต เพราะต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความมั่นคงด้านพลังงานกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ความขัดแย้งของภาคสังคมที่ยังไม่มีข้อยุติ เช่น กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน
และความท้าทายสุดท้าย คือ ความไม่ชัดเจน เรื่องของทรัพยากรปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดลงจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย 2 แหล่ง คือแหล่งบงกชและเอราวัณ ใน 6 ปีข้างหน้า ที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต่ออายุสัมปทานหรือไม่ ทำให้การพัฒนาปิโตรเลียมเดินหน้าต่อไม่ได้ ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศ ที่ลดต่ำลงเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
นายเทวินทร์ กล่าวว่า จากผลกระทบทั้ง 4 เรื่อง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทสไทย(กฟผ.) และหน่วยงานภาครัฐ ต้องปรับแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือ โดยในส่วนของ ปตท. ได้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่อส่งน้ำมันและก๊าซฯ คลังรับแอลเอ็นจีบนบก และคลังรับแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU) ซึ่งจะเป็นการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล และขณะเดียวกันก็เป็นการซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศทำให้ประเทศสูญเสียเงินตราออกนอกต่างประเทศมากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ ปตท.จะต้องปรับโมเดลทางธุรกิจ เน้นการเพิ่มผลิตภาพ(โปรดักทิวิตี้)เสริมความแข็งแกร่งในกับธุรกิจเพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขันกับต่างประเทศ ควบคู่กับการรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ – สำนักข่าวไทย