กรุงเทพฯ 24 มี.ค.- SGP เดินหน้าแผนนำเข้าแอลเอ็นจี 1 ล้านตัน/ปี สร้างคลังหนองแฟบ ทำแผนขนส่งจำหน่ายด้วยรถยนต์แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม หากไม่สะดุด 3-4 ปีข้างหน้านำเข้าแน่ ย้ำโควิด-19 คลี่คลาย ยอดขายก๊าซแอลพีจีโตร้อยละ 15
นางจิณตนา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารเงิน บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SGP กล่าวว่า บริษัทเดินหน้าศึกษาขยายงานธุรกิจก๊าซฯ นอกเหนือจากก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี ) ก็ได้ศึกษาขยายแผนไปเรื่องก๊าซธรรมชาติ เหลว (แอลเอ็นจี) ด้วย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ขณะที่อนาคตความต้องการแอลเอ็นจีจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าแอลพีจี โดยตลาดในต่างประเทศได้ลงนามบัณทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บมจ.ปตท. ในการพัฒนาการจำหน่ายแอลเอ็นจีและแอลพีจีในจีน ซึ่งมีความต้องการก๊าซเพิ่มขึ้น โดยศึกษาร่วมมือทั้งด้านการตลาด การดำเนินการโลจิสติกส์ร่วมกัน
ส่วนตลาดแอลเอ็นจีในไทย ทางบริษัทเดินหน้าศึกษาการจัดทำคลังรับก๊าซแอลเอ็นจีในพื้นที่ชายทะเล บ้านหนองแฟบ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พื้นที่ 400 ไร่ ในขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ตามขั้นตอนการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ ) โดยหากผ่านความเห็นชอบก็จะลงทุนก่อสร้างคาดจะเสร็จภายใน 3-4 ปีข้างหน้า หรือปี 2567-2568 ปริมาณจำหน่ายต่อปีราว 1 ล้านตัน หรือประมาณ 80,000-100,000 ตัน/เดือน ประเมินล่าสุดใช้เงินลงทุนราว 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนการสร้างคลังไม่สูงมาก เนื่องจากเป็นคลังกักเก็บแอลเอ็นจีในรูปของเหลว และส่งจำหน่ายในรูปของเหลว ขนส่งด้วยรถยนต์ไปยังลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยคลังไม่ต้องลงทุนระบบเปลี่ยนสภาพแอลเอ็นจีจากของเหลวเป็นก๊าซฯ และไม่ได้ใช้การขนส่งผ่านระบบท่อก๊าซของ บมจ.ปตท. แต่อย่างใด ซึ่งมั่นใจว่าจากการศึกษาดูงานในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ เยอรมัน จีน ต่างใช้ระบบนี้ มีความสะดวกปลอดภัย ต้นทุนแข่งขันได้
“ในเรื่องใบอนุญาตนำเข้าแอลเอ็นจี ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และได้คำตอบกลับมาว่า เนื่องจากเป็นการนำเข้าและจำหน่ายโดยไม่ใช้ระบบท่อก๊าซฯของ ปตท.และเป็นผู้ค้าเชื้อเพลิง ตามมาตรา 7 อยู่แล้วก็สามารถแจ้งกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เข้ามาจำหน่ายได้เลย โดยไม่ต้องขอเป็นชิปเปอร์ หรือผู้นำเข้ากับ สำนักงาน กกพ. ซึ่งขณะนี้ บริษัทได้จัดตั้ง บริษัท สยามแอลเอ็นจี จำกัด เพื่อเตรียมพร้อมในการทำธุรกิจนี้”นางจินตนากล่าว
นางจิณตนา กล่าวด้วยว่า เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และหลายประเทศได้ทยอยฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน รวมทั้งรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้เติบโตส่งผลให้มีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น บริษัทจึงมั่นใจยอดใช้ก๊าซฯ ปี2564 ปริมาณขายแอลพีจีของบริษัทเติบโตร้อยละ 15 อยู่ที่ 3.73 ล้านตัน จากที่ปี 2563 ผลกระทบจากโควิด-19ยอดขายลดลงร้อยละ 15 มาอยู่ที่ 3.25 ล้านตัน
สำหรับปี 2564 คาดปริมาณการขายแอลพีจีในไทยอยู่ที่ 910,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 ในส่วนปริมาณการขายต่างประเทศ รวม 2.82 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 แบ่งเป็นจีน 1.15 ล้านตัน โตขึ้นร้อยละ 21.4 เวียดนาม 100,000 ตัน โตขึ้นร้อยละ 8.6 สิงคโปร์ 20,000 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 มาเลเซีย 110,000 ตัน เติบโตร้อยละ 7.8 และธุรกิจเทรดดิ้งในต่างประเทศประมาณ 1.4 ล้านตัน เติบโตขึ้นร้อยละ 12.8 คาดยอดขาย ในไทยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 24.4 และต่างประเทศร้อยละ 75.6 -สำนักข่าวไทย
ส่วนผลประกอบการในปี 2563 ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นใหญ่ 2,061.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 701.93 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 51.62% เทียบกับงวดปี 62 ที่มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 1,359.91 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 55,641.32 ล้านบาท เป็นรายได้จากการขาย, ขนส่ง และบริการ 55,123.61 ล้านบาท รายได้อื่น 517.71 ล้านบาท