กทม. 24 มี.ค.-ศบค.กทม.กำชับตลาดทุกแห่งใน กทม.ต้องได้มาตรฐานป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเร่งค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ย่านตลาดบางแคและทั่วกรุงเทพฯ ต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ 10–22 มี.ค.64 ตรวจแล้ว 22,848 คน พบเชื้อ 419 คน รอผล 4,041 คน ขณะที่ การฉีดวัคซีน ยอดรวม 22,510 คน
พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ศบค.กทม. ครั้งที่ 23/2564 ที่ประชุมได้พิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน พบว่าตลาดเป็นแหล่งการแพร่ระบาดที่สำคัญ จำนวนมาก รวดเร็ว และเป็นวงกว้าง ที่ประชุมจึงกำชับให้ทุกสำนักงานเขตดำเนินการตามหนังสือสั่งการของปลัดกรุงเทพมหานคร ที่ กท 0714/ว98 ลงวันที่ 9 มี.ค. 64 อย่างเคร่งครัด โดยกำชับให้ทุกเขตเร่งสำรวจจำนวนตลาดที่ในพื้นที่และประสานเจ้าของตลาดให้ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดตามที่หน่วยงานราชการกำหนด เช่น จัดให้มีช่องทางเข้า-ออกที่ชัดเจน มีการจัดตั้งจุดคัดกรองและจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือก่อนเข้าตลาด
นอกจากนี้ให้ตรวจสอบด้านสุขาภิบาลตลาด โดยเฉพาะระบบระบายอากาศ หากพบการระบายอากาศไม่ดีให้ประสานเจ้าของหรือผู้ประกอบการตลาดเร่งดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมทั้งให้เจ้าของหรือผู้ประกอบการตลาดจัดทำแผนผังแผงค้า จัดทำทะเบียนผู้ค้า จัดทำข้อมูลแรงงานหรือลูกจ้างของแต่ละแผงค้า อาทิ จำนวนลูกจ้าง เพศ อายุ ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกและง่ายต่อการสอบสวนโรคหากพบผู้ติดเชื้อ โดยให้ทุกสำนักงานเขตรายงานต่อที่ประชุมในวันอังคารที่ 30 มี.ค. 64
ส่วนตลาดย่านบางแคซึ่งที่ผ่านมาเกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนนั้น เจ้าของหรือผู้ประกอบการตลาดต้องปรับปรุงด้านสุขาภิบาลตลาดและผ่านการตรวจประเมินโดยกรุงเทพมหานคร กรมอนามัย และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งจัดทำแผนผัง ข้อมูลผู้ค้า ข้อมูลแรงงานหรือลูกจ้างให้แล้วเสร็จเรียบร้อยก่อนเปิดดำเนินการ สำหรับผู้ค้าและแรงงานหรือลูกจ้างในตลาดย่านบางแคที่ผ่านการตรวจคัดกรองแล้ว 2 ครั้ง หรือได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งจะมีเอกสารรับรองการผลการตรวจหรือรับรองการฉีดวัคซีนจึงจะสามารถปฏิบัติงานในตลาดได้
สำหรับผลการค้นหาเชิงรุกโรคโควิด-19 ในพื้นที่เขตบางแค บริเวณตลาดวันเดอร์และตลาดใกล้เคียง และตลาดคลองขวาง รวมทั้งชุมชนบริเวณใกล้เคียง ตลอดจนรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยพระราชทานและรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ณ บริเวณสวนแห่งวัฒนธรรมเขตบางแค ด้านหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางแค และบริเวณด้านหน้าศูนย์สรรพสินค้าโลตัส สาขาบางแค ตั้งแต่วันที่ 10 – 22 มี.ค. 64 มีผู้มารับการตรวจ รวม 22,848 คน ผลพบเชื้อ 419 คน รอผล 4,041 คน
ทั้งนี้ ยังคงดำเนินการค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยผลการดำเนินงานเฝ้าระวังและค้นหาเชิงรุกในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของตลาด สถานประกอบการโรงงาน และชุมชนต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 18 ธ.ค.63 – 22 มี.ค.64 กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการสุ่มตรวจแล้ว จำนวน 86,744 คน ผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อรวม 461 คน
สำหรับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร (22 มี.ค.) ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วทั้งสิ้น จำนวน 22,510 คน บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน 11,443 คน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,024 คน ประชาชนทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงย่านบางแค รวม 7,648 คน ผู้มีโรคประจำตัว อายุ 18 – 59 ปี 10 เดือน 1,395 คน
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนของบริษัท AstraZeneca จำนวนหนึ่งสำหรับฉีดให้แก่ผู้สูงอายุในบ้านพักคนชรา (บ้านบางแค 1 และบ้านบางแค 2) ซึ่งกรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ฉีดให้ผู้สูงอายุที่พักในบ้านพักคนชราทั้งสองแห่งเรียบร้อยแล้ว
ขณะที่แนวทางการจัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ประจำปี 64 นี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ (ระหว่างวันที่ 10 – 15 เม.ย. 64) โดยอนุญาตให้จัดกิจกรรมพื้นฐานได้ อาทิ พิธีสรงน้ำพระ กิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา พิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ โดยหากมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 300 คน ผู้จัดกิจกรรมต้องยื่นแผนการจัดงาน และมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน ส่วนการจัดกิจกรรมอื่นในเทศกาลสงกรานต์ที่เพิ่มเติมจากนอกเหนือจากกิจกรรมพื้นฐานข้างต้น เช่น การออกร้าน การจัดเลี้ยง หากมีผู้ร่วมกิจกรรมเกิน 100 คน ผู้จัดกิจกรรมจะต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักงานเขตพื้นที่ก่อนจัดงาน
ทั้งนี้ ควรจัดในพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศระบายได้ดี หลีกเสี่ยงการจัดกิจกรรมในพื้นที่คับแคบหรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ และให้งดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมากซึ่งอาจเกิดภาวะไร้ระเบียบ หรือกิจกรรมที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกัน เช่น การรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ คอนเสิร์ต ประแป้ง ปาร์ตี้โฟม เป็นต้น ทั้งนี้ขอให้ผู้ประสงค์จัดกิจกรรมเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ศึกษาประกาศของกรุงเทพมหานครให้ชัดเจน ละเอียดรอบคอบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ต่อไป .-สำนักข่าวไทย