กรุงเทพฯ 18 มี.ค.- ปตท.สผ.ยืนยันยังเข้าพื้นที่ “เอราวัณ” ยังไม่ได้ ให้ข่าวหลัง เชฟรอนฯแจ้งว่า พร้อมให้เข้าด้านไอที เดือนมี.ค.นี้
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) กล่าวว่า บริษัทฯ ยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตในโครงการ G1/61 ได้ หรือแหล่งเอราวัณ เพื่อเตรียมพร้อมแผนงานผลิตให้ต่อเนื่อง หลัง สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.65 ซึ่งการเข้าพื้นที่ติดตั้งแท่น เป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตได้ตามสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) เนื่องจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณยังไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการดังกล่าว
ส่วนข้อตกลงความร่วมมือเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้ตกลงกันเมื่อเร็วๆ นี้นั้น เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของการส่งมอบการดำเนินงานในส่วนของการผลิตจากแท่นหลุมผลิตเดิมเท่านั้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันจะต้องทำ โดย ทั้งสองฝ่ายและกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังอยู่ระหว่างการเจรจาการส่งมอบงานส่วนสำคัญอีกหลายส่วน เช่น การถ่ายโอนแท่นหลุมผลิตปัจจุบันและข้อมูลการดำเนินงาน
” ปตท.สผ. ยังคงหวังที่จะได้รับความร่วมมืออย่างจริงใจจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน ร่วมกับการประสานงานจากทางหน่วยงานภาครัฐ ที่จะช่วยให้สามารถผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.ระบุ
ทั้งนี้ ในช่วงเช้า บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด แจ้งว่าเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท ฯได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT Transition Support Agreement) กับบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ PTTEP ED ในการเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศนอกชายฝั่งสำหรับการเป็นผู้ดำเนินงานแหล่งเอราวัณในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 โดย PTTEP ED ได้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อเริ่มสำรวจและวางแผนด้านเทคโนโลยีสนเทศในกลางเดือนมีนาคมนี้
สำหรับ แหล่งเอราวัณ มีกำลังผลิตก๊าซปี63ราว 1,200ล้าน ลูกบาศก์ฟุต/วัน และตามข้อกำหนดภาครัฐหลังเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินจาก เชฟรอนฯมาเป็น ปตท.สผ.กำลังผลิตจะต้องไม่ต่ำกว่า 800ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ที่ผ่านมาเขฟรอนฯไม่อนุญาตให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ทำให้การเตรียมการเพื่อพร้อมผลิตต่อเนื่องล่าช้า กำลังผลิตช่วงรอยต่ออาจเหลือเพียง 500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ในขณะที่ เชฟรอนฯได้ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการต่อกรมเชื้อเพลิงฯในเรื่องความเห็นขัดแย้งเรื่องการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมเก่าที่ไม่สามารถใช้งานต่อได้หลังหมดอายุสัมปทาน.-สำนักข่าวไทย