สกลนคร 9 มี.ค. – อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ แจงกรรมสิทธิ์หวยอลเวง กรณีนางรำซื้อสลากจากแม่ค้าแต่ยังไม่ได้จ่ายเงิน แต่เซ็นชื่อสลักหลังเอาไว้ เมื่อถูกรางวัลที่ 1 แต่กลับไม่ได้สลาก ระบุเมื่อมีการตกลงซื้อขายกันแล้ว ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลอตเตอรี่จึงถูกโอนไปยังผู้ซื้อทันที แม้ว่าผู้ขายจะยังไม่ได้ส่งมอบลอตเตอรี่ให้ก็ตาม
นางสาวรัตนา ภูละคร อายุ 58 ปี แม่ค้าขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.เมืองสกลนคร อ.เมือง จ.สกลนคร เพื่อให้ปากคำกรณีนางไพมณี พลราชม อายุ 57 ปี แจ้งความร้องทุกข์ว่าถูกรางวัลที่ 1 งวดประจำวันที่ 1 มีนาคม 2564 หมายเลข 835538 แต่สลากยังอยู่กับนางสาวรัตนา แม่ค้า ซึ่งอ้างว่าขายลอตเตอรี่ใบดังกล่าวให้คนอื่นแล้ว เพราะคนซื้อไม่ได้จ่ายเงิน จนเกิดเป็นคดีความขึ้นมา เนื่องจากคนซื้อก็ยืนยันว่าได้ตกลงซื้อขายกันแล้ว และจองโดยเขียนชื่อไว้ด้านหลังลอตเตอรี่
นางสาวรัตนา กล่าวว่า วันนี้ตำรวจนัดมาให้ถ้อยคำ เพราะถูกกล่าวหา แต่จะแจ้งความกลับหรือไม่ ขอปรึกษาผู้รู้กฎหมายก่อน ในส่วนของยี่ปั๊วเพื่อถามหาต้นขั้ว ยอมรับว่าอาจจะยาก เพราะซื้อมาจากหลายคน หลายที่ ส่วนที่ผู้ซื้อท้าสาบานความบริสุทธิ์ กำลังคิดอยู่ว่าจะไป เพราะมั่นใจว่าไม่ได้โกง ไม่ได้ยักยอก เราเป็นคนขายก็รีบขายออกไป เพื่อจะได้นำเงินไปซื้อสลากลอตใหม่ ยืนยันไม่ได้เก็บไว้เอง เพราะคนซื้อสั่งจองปากเปล่า ไม่ได้จ่ายเงิน และไม่โทรติดต่อมาเพื่อย้ำว่าจะเอาสลากฉบับนั้น
ส่วนกระแสข่าวลือที่ว่าตนเองลงกรุงเทพมหานครหลังวันหวยออก เรื่องนี้พูดเล่นๆ โดยบอกว่าจะไปสนามบินน้ำ เพื่อไปดูการขายสลาก ว่าขายยังไง แบบไหน ราคาเท่าไร ไม่ได้เกี่ยวกับเอาไปขึ้นรางวัล อีกฝ่ายเข้าใจไปเอง พอดีเป็นเรื่องประจวบเหมาะในระหว่างเกิดเรื่อง ตลอดระยะเวลาที่ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล มีทั้งคนจอง คนขอให้เอาแผงไปให้ดู อีกอย่างชื่อคนเขียนในหัวข้อลอตเตอรี่กับในกระดาษที่จดไว้ ใครจะเอา ก็ต้องไปส่งเพื่อรับเงิน เมื่อดูแล้วไม่มีชื่อไพมณี จึงขายออกไป แต่ได้ยินมาว่าคนซื้อเขียนชื่อด้านหลัง แต่วันนั้นมีทั้งเสียงรบกวน คนจะซื้อ คนจอง เลยจำอะไรไม่ได้ทั้งหมด แต่ความจริงก็คือความจริง พร้อมที่จะสาบานถึง 2 วัด เพราะเราบริสุทธิ์ และอยากให้คนที่ซื้อสลากใบนี้ไป อยากให้ออกมาแสดงตัว เรื่องราวจะได้จบ จะได้ทำมาหากิน เพราะเราไม่ได้ร่ำรวยอะไร กำไรนิดหน่อย ตัวคนเดียว ก็กู้หนี้ยืมสินมาเหมือนกัน
ขณะที่รองศาสตราจารย์มานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายข้อกฎหมายเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เป็นกรณีของการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์เฉพาะสิ่ง คือรู้แล้วว่าซื้อลอตเตอรี่หมายเลขใด โดยในทางกฎหมาย การซื้อขายกันในลักษณะนี้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายนั้นย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกันแล้ว และจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในข่าว ฟังได้ว่ามีการตกลงซื้อขายกันแล้ว ความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในลอตเตอรี่จึงถูกโอนไปยังผู้ซื้อทันที แม้ว่าผู้ขายจะยังไม่ได้ส่งมอบลอตเตอรี่ให้ก็ตาม โดยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 458 กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะทำสัญญาซื้อขายกัน หนี้ของคนซื้อคือต้องจ่ายเงิน หนี้ของคนขายคือต้องส่งมอบลอตเตอรี่ แต่ความเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์มันถูกโอนตั้งแต่สัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว
ทั้งนี้ หากนางไพมณีต้องการเรียกร้องในกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของลอตเตอรี่ฉบับดังกล่าว จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีการทำข้อตกลงอื่นขณะทำสัญญากับผู้ขาย ขณะเดียวกันผู้ซื้อคนที่สองที่มาซื้อลอตเตอรี่ฉบับดังกล่าวไปจากคนขายรายนี้ ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ในลอตเตอรี่ฉบับดังกล่าว ก็ไม่มีสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของเช่นกัน สามารถเรียกร้องคืนได้แค่ราคาของลอตเตอรี่ที่ซื้อมา นั่นก็คือ 80 บาท
รองศาสตราจารย์มานิตย์ยังแนะนำอีกว่า สำหรับผู้ที่ซื้อลอตเตอรี่ในลักษณะจองเหมือนกับกรณีนี้ ควรถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงถ่ายรูปคู่กับแม่ค้าที่ขายลอตเตอรี่ด้วย เพื่อเป็นหลักฐานประกันความมั่นคงว่าจะไม่ถูกโกงหากถูกรางวัลที่ 1 .-สำนักข่าวไทย