จันทบุรี 5 มี.ค.-เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง ดึงผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ จับมือเกษตรกรลงนาม MOU ส่งออกทุเรียนออร์แกนิก จันทบุรี บินไปจีน เสนอราคาเริ่มต้น กก.ละ 1,000 บาท
ที่วัดโพธิ์ทอง ตำบลแสลง อำเภอเมือง จันทบุรี มีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ความร่วมมือ การค้าทุเรียนของภาคตะวันออก มีรองผู้ว่าราชการจันทบุรี พร้อมด้วยพระครูสุวรรณโพธิวรธรรม หรือพระอาจารย์ มนัส ขันติธัมโม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ, ผู้ประกอบการ, สมาคม, สมาพันธ์ และเครือข่ายเกษตรกร ร่วมเป็นสักขีพยาน เพื่อเป็นการส่งเสริม สนับสนุน การค้าทุเรียนที่เป็นธรรม สร้าง มาตรฐานทุเรียนไทยให้ได้มาตรฐาน GAP และมาตรฐานการส่งออกทุเรียนไทยสู่ตลาดโลก และขับเคลื่อนสู่การเป็นศูนย์กลางผลไม้โลก ร่วมส่งเสริมวิจัย และพัฒนาผลไม้ไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การเป็น Smart Farmer และร่วมพัฒนาเกษตรกรไทย สู่การเป็นผู้ประกอบการสากล ยุค 5.0 รวมทั้งการสนับสนุนให้เกิดการผลิตที่ปลอดภัย และเข้าสู่ระบบการปลูกทุเรียนอินทรีย์แบบยั่งยืน
การทำ MOU ส่งออก ในครั้งนี้ เกิดจากสภาพปัญหาของเกษตรกร ในเรื่องการขายผลผลิต จึงเชิญผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ มาร่วมกันทำข้อตกลง ซึ่งก่อนหน้านี้มีเครือข่ายทุเรียนออร์แกนิกไทยแลนด์ หรือทุเรียนอินทรีย์ ที่พระอาจารย์มนัส ขันติธัมโม เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง ได้ส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกษตรกรสมาชิกของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ในจันทบุรี ทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งดูแลเรื่องการตลาด โดยขณะนี้ ทุเรียนออร์แกนนิก ไทยแลนด์ ทำการซื้อขายล่วงหน้าให้กับบริษัทคู่ค้าที่รับซื้อ ในราคาเริ่มต้น ต่อกิโลกรัม ถึงกว่า 1,000 บาท จากการทำ MOU ส่งออกทุเรียนออร์แกนนิก ในครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์และเป็นผลดีต่อชาวสวนเป็นอย่างมาก ในเรื่องราคา และยังมีโอกาสทำการซื้อขายล่วงหน้าได้ในฤดูกาลผลิตปีนี้ จะมีราคาเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 1,000 บาท
เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ทอง บอกว่าปัจจุบัน กลุ่มสัจจะ สะสมทรัพย์ใน จันทบุรี มีสมาชิก 110,000 คน โดย 90 % เป็นเกษตรกรชาวสวนทุเรียน โดยหลังจากฤดูการผลิตปีนี้ จะต่อยอดพัฒนากระบวนการสร้างความเข้าใจกับชาวสวนรายใหม่ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มสัจจะ ให้ทราบถึงประโยชน์การผลิตทุเรียนคุณภาพ และการเข้าร่วม MOU ในการทำข้อตกลง มีตลาดขายที่แน่นอนในระยะ 3-5 ปี ล่วงหน้า อีกทั้งในปัจจุบัน เกษตรกรได้หันมาปลูกทุเรียนกันจำนวนมาก ถือว่ามีปริมาณที่อาจจะเกินกว่าความต้องการของตลาด แต่หากใช้วิธีนี้ในการซื้อขายล่วงหน้าใน 3-4 ปี และต่อไปในอนาคต ก็จะทำให้ ไม่เกิดปัญหาทุเรียนล้นตลาด หรือตกต่ำ โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายน และพฤษภาคม ซึ่งจะมีผลผลิตออกมามากที่สุด และราคาตกต่ำ ในระยะยาวได้ต่อไปในอนาคต.-สำนักข่าวไทย