กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มและแอลพีจีจะทรงตัวกับปัจจุบัน ยอมรับแผนก๊าซฯ และไฟฟ้าพลาดเป้าหมาย เตรียมแผนสำรองอาจประกาศรับซื้อไฟฟ้าเอกชนเพิ่มขึ้น
ราคาพลังงานปี 2560 จะผันแปรตามทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สนพ. คาดว่าในส่วนของราคาขายปลีกน้ำมันและก๊าซหุงต้ม หรือแอลพีจี จะใกล้เคียงกับปัจจุบัน ซึ่งในส่วนของน้ำมันคาดจะมีราคาบวกลบขึ้นลงได้ 1-2 บาท/ลิตร โดย สนพ.ใช้สมมติฐานเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คือ ราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ประมาณ 42-52 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่กลุ่มวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันของกลุ่ม ปตท. หรือ PRISM ประเมินราคาอยู่ที่ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ส่วนแอลพีจีปีหน้าคาดราคา 400 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ด้านราคาเอ็นจีวี กลุ่ม ปตท.คาดปีหน้าอยู่ที่ประมาณ 7.5 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน
อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันทั้งโอเปกและนอกโอเปกจะลดกำลังผลิตตามที่ตกลงได้ หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีหน้า ส่วนค่าไฟฟ้าและเอ็นจีวี ยอมรับว่าต้นทุนจะขยับขึ้น เพราะราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศสะท้อนต้นทุนราคาน้ำมันเตาย้อนหลัง 6-12 เดือน ซึ่งที่ผ่านมาราคาน้ำมับดูไบต้นปีอยู่ที่ประมาณกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ในขณะนี้ขึ้นมาอยู่ที่กว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าราคาเอ็นจีวี เดือนธันวาคมเริ่มจาก 16 ธันวาคมก็จะขยับขึ้นจาก 65 สตางค์/กิโลกรัม โดยปรับขึ้นมาอยู่ที่ 12.54 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้ สนพ.ได้แถลงการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายและตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งพบว่าแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี 2015 ปี 2558-2579 ) และแผนบริหารจัดการก๊าซฯ ไม่เป็นไปตามแผน เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในประเทศล่าช้า ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เกินเป้าหมายถึง 463 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังผลิตถึง 2,142 เมกะวัตต์ ซึ่งกรณีแผนก๊าซฯ กพช.ได้มีการอนุมัติให้ลงทุนนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทนก๊าซในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่การส่งเสริมการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของประชาชนก็ทำได้มากขึ้น เช่น การเปิดเสรีนำเข้าแอลพีจีปี 2560 การปล่อยลอยตัวราคาเอ็นจีวีและแอลพีจีแบบมีกลไกกำกับดูแล และการปรับลดอัตราสำรองของน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 1
นายทวารัฐ กล่าวด้วยว่า ในแผนพีดีพี 2015 คาดว่าจะต้องมีการปรับปรุงใหม่ โดยกระทรวงฯ กำลังติดตามสถานการณ์ว่าโรงไฟฟ้าโรงใดจะล่าช้าและจะสร้างได้เมื่อใด เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ไอพีพี 600 เมกะวัตต์ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด, โรงไฟฟ้าไอพีพีของ กลุ่มกัลฟ์เอ็นเนอร์ยี, โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ยังคงตั้งเป้าหมายต้องการกระจายเชื้อเพลิงให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงทั้งด้านการพึ่งพาเชื้อเพลิงตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไป และลดผลกระทบด้านราคาก๊าซแอลเอ็นจีที่ผันผวน โดยตามแผนพีดีพีเดิมต้องการเพิ่มสัดส่วนถ่านหินจากร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 23 และก๊าซธรรมชาติลดสัดส่วนจากร้อยละ 67 เป็นร้อยละ 37 แต่หากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นไม่เป็นตามแผนสัดส่วนเหล่านี้ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป
ขณะเดียวกันกระทรวงฯ เตรียมแผนรองรับหลายแนวทาง เช่น การขยายกำลังผลิตของโรงไฟฟ้าเดิม, การจัดหากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ ซึ่งจะเป็นของ กฟผ. หรือภาคเอกชนในรูปแบบไอพีพี หรือเอสพีพี ก็ต้องมาวิเคราะห์และขึ้นอยู่กับนโยบาย, การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จากขณะนี้ตามแผนมีสัดส่วนจะรับซื้อร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม ทางทฤษฎีสามารถเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 และซื้อแต่ละประเทศไม่เกินร้อยละ 13 โดยในส่วนของ สปป.ลาวมีข้อตกลงรับซื้อ (เอ็มโอยู) อยู่ที่ 9,000 เมกะวัตต์ ยังไม่ถึงเพดานร้อยละ 13 นอกจากนี้ อาจเพิ่มเรื่องการรับซื้อพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบันหากไม่รวมพลังงาน ตามแผนจะรับซื้อรวม 16,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งกระทรวงฯ จะเน้นย้ำเรื่องแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30
“การนำเข้าแอลเอ็นจี มาผลิตไฟฟ้า แม้ว่าจะช่วยทำให้มีเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ปริมาณอาจไม่ขาดแคลนเพราะในตลาดโลกมีมากขึ้น แต่ปัญหา คือ แอลเอ็นจีมีราคาผันผวนกระทบค่าไฟฟ้า การกระจายความเสี่ยง พึ่งพาหลากหลายเชื้อเพลิง จึงน่าจะเป็นทางออกดีที่สุดสำหรับประเทศ” นายทวารัฐ กล่าว.-สำนักข่าวไทย