กรุงเทพฯ 20 ธ.ค. – กระทรวงพลังงานเตรียมแผนรับมือกรณีหากประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมหมดอายุ (บงกช-เอราวัณ) ล่าช้า อาจจะให้ ปตท.สร้างสถานีรับจ่ายแอลเอ็นจี ที่ 1 หรือเทอร์มินัล 1 เพิ่มจาก 11.5 ล้านตัน/ปี เป็น 15 ล้านตัน/ปี และเจรจามาเลเซียขอซื้อก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ในส่วนของมาเลเซียมาใช้ชั่วคราว
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฯ รอความชัดเจนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่าจะเห็นชอบแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมและภาษีปิโตรเลียมเสร็จสิ้นเมื่อใด เพราะหากล่าช้าจะกระทบต่อการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุ คือ แหล่งของเชฟรอนและบงกช โดยหากประมูลล่าช้าเกินปี 2560-2561 ผลกระทบ คือ ก๊าซฯ ในปี 2564-2565 จะลดจากแผนไปอย่างมากจากเดิมที่คาดว่าแหล่งที่จะหมดอายุจะลดกำลังผลิตก๊าซฯ ลงจาก 2,100 ล้านลูกบาศก์ต่อวันเหลือ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปริมาณก็อาจจะหายไปอย่างรุนแรง
ดังนั้น เพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงทางด้านการผลิตกระแสไฟฟ้า กระทรวงฯ ต้องเตรียมพร้อมหลายแนวทางไม่ให้เกิดปัญหาไฟดับ ซึ่งต้องยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าก็จะได้รับผลพวงหากช่วงนั้น ราคานำเข้าก๊าซเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ แนวทางที่เตรียมไว้ ได้แก่ 1.ให้ ปตท.เตรียมศึกษาการขยายการนำเข้าแอลเอ็นจีเทอร์มินอล 1 จาก 11.5 ล้านตัน เป็น 15 ล้านตันต่อปี เพราะปัจจุบันเทอร์มินอล 1 ได้รับการอนุมัติ การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีเอชไอเอ) ให้ก่อสร้างได้ถึง 15 ล้านตันอยู่แล้ว 2.เจรจากับมาเลเซียเพื่อขอซื้อก๊าซฯ จากแหล่งเจดีเอในสัดส่วนของมาเลเซีย โดยปัจจุบันนี้ไทยใช้ก๊าซฯ จากแหล่งเจดีเอ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันก็จะต้องเจรจาซื้อก๊าซฯ เจดีเอในส่วนของมาเลเซียระยะสั้น 1 ปี หรือปี 2565 ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
“ปี 2564-2565 ถ้าประมูลแหล่งสัมปทานหมดอายุล่าช้าจะต้องนำเข้าก๊าซเพิ่ม เป็น 13-14 ล้านตันต่อปีขณะที่คลังนำเข้าแอลเอ็นจีเทอร์มินอล 1 ได้รับอนุมัติขณะนี้มีเพียง 11.5 ล้านตันต่อปี ทางแก้ไขปัญหาก็อาจต้องอนุมัติให้ ปตท.สร้างเพิ่มอีก 3.5 ล้านตัน และเจรจากับมาเลเซียในการขอซื้อก๊าซฯ จากแหล่งเจดีเอมาใช้อีกประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน” นายวีระศักดิ์ กล่าว
นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติแผนจัดหาก๊าซธรรมชาติระยะยาว (2559-2579 ) ฉบับปรับปรุงใหม่ โดยใช้สมมติฐานโรงไฟฟ้าถ่านหิน จังหวัดกระบี่ และเทพา จังหวัดสงขลา ไม่สามารถก่อสร้างได้ตามแผน และแผนอนุรักษ์พลังงาน และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนเดินหน้าได้เพียงร้อยละ 70 เท่านั้นส่งผลให้ต้องใช้ก๊าซฯ เข้ามาทดแทน ขณะเดียวกันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์ (NGV) อยู่ในระดับต่ำ ส่วนการใช้ก๊าซฯ ภาคอุตสาหกรรมเติบโต ขณะที่โรงแยกก๊าซในประเทศจะลดกำลังการผลิตจากแหล่งในอ่าวไทยที่ป้อนโรงแยกทยอยหมดลง โดยคาดว่าภายใน 10 ปีข้างหน้าการผลิตก๊าซจากแหล่งในประเทศจะเหลือร้อยละ 50 เท่านั้นแผนที่ปรับปรุงใหม่จึงประเมินว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ จะขยับขึ้นจาก 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 5,062 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยแผนดังกล่าวเบื้องต้นให้ ปตท.สร้างเทอร์มินอล 2 นำเข้าแอลเอ็นจี 7.5 ล้านตัน ให้การไฟฟ้าไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (เอฟเอสอาร์ยู) 5 ล้านตัน และ ปตท.ร่วมทุนสร้างเอฟเออาร์ยูฝั่งเมียนมาร์ อีก 3 ล้านตันต่อปี โดยทุกโครงการจะต้องเร่งรัดก่อสร้างโดยเร็วที่สุด.-สำนักข่าวไทย