สมุทรสาคร 24 ก.พ.-หนึ่งในพื้นที่ได้รับจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ลอตแรก คือ จ.สมุทรสาคร โดยขณะนี้ทางจังหวัดเตรียมโรงพยาบาลที่รับหน้าที่ฉีดวัคซีนไว้ทั้งหมด 11 แห่ง กลุ่มแรกที่จะได้ฉีด คือ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด
นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยว่าจังหวัดสมุทรสาคร ได้เตรียมสถานที่ในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลอตแรกไว้ทั้งหมด 11 แห่ง โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับการฉีดวัคซีนก่อน คือ บุคคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 ส่วนประชาชนทั่วไทยชุดแรก จะเป็นกลุ่มที่มีอายุ 18-59 ปี ที่มีความเสี่ยงสูง
ด้านนายแพทย์ณเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ได้ร่วมวางแผนกับโรงพยาบาลหลายแห่ง เพื่อเตรียมความพร้อม รวมถึงมีการซักซ้อมขั้นตอนสำหรับฉีดวัคซีน ซึ่งมีทั้งหมด 8 ขั้นตอนด้วยกัน คาดว่าจะเริ่มฉีดได้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นไป
ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนโควิด-19 ลอตแรกของจังหวัดสมุทรสาคร ขณะนี้ได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกมาเป็น 3 ประเภทก่อน คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจาก “วัคซีนโควิด-19” ที่ได้รับมาลอตแรกเป็นวัคซีนที่ป้องกันการเจ็บป่วยและเสียชีวิต ฉะนั้นต้องฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงสูงสุดก่อน เช่น บุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนทำงานหน้าด่าน เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทหาร ตำรวจ ปกครอง อสม. ที่ทำงานในพื้นที่ ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ คนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน และโรคเรื้อรัง ที่อาจเสียชีวิตได้ และกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 18–59 ปี ขึ้นไป เนื่องจากวัคซีนลอตแรกที่จะได้รับมานี้ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีอยู่ราวๆ ไม่เกิน 10,000 คน
ส่วนกรณีประกาศ “ขอเลื่อนการลงทะเบียนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ออกไปก่อนโดยไม่มีกำหนดนั้น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ชี้แจงว่า การเปิดลงทะเบียนฉีดวัคซีนในรอบแรก เป็นการสำรวจความต้องการฉีดวัคซีน เพื่อนำมาวางแผนแต่อาจจะยังไม่ทั่วถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมาย จึงต้องประกาศเลื่อนออกไปก่อนเตรียมเปิดลงทะเบียนอีกครั้งเร็วๆนี้
สำนักข่าวไทย ตรวจสอบรายชื่อโรงพยาบาลในจังหวัดสมุทรสาคร จำนวน 11 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนลอตแรก โดยเป็นโรงพยาบาลของรัฐ 3 แห่ง ส่วนอีก 8 แห่งเป็นโรงพยาบาลเอกชน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ประกอบด้วย
1.รพ.สมุทรสาคร อําเภอเมืองสมุทรสาคร
2.รพ.กระทุ่มแบน ตำบลตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน
3.รพ.บ้านแพ้ว อ.บ้านแพ้ว
4.รพ.มหาชัย 1 ตําบลมหาชัย อําเภอเมืองสมุทรสาคร
5.รพ.มหาชัย 2 ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน
6.รพ.มหาชัย 3 ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
7.รพ.วิชัยเวช สมุทรสาคร ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
8.รพ.วิชัยเวช อ้อมน้อย ตำบล อ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน
9.รพ.วิภาราม สมุทรสาคร ตำบลบางกระเจ้า อำเภอเมืองสมุทรสาคร
10.รพ.เอกชัย ตำบล โคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร
11.รพ.เจษฎาเวชการ ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร
ส่วนขั้นตอนการฉีดวัคซีนโควิด-19 เริ่มจากกระบวนการเตรียมรับวัคซีน โดยผู้ที่จะรับวัคซีน ต้องรับบัตรคิว ตรวจอุณหภูมิวัดไข้ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ จากนั้นก็เข้าห้องรับรองดูวีดีโอทำความเข้าใจเกี่ยวกับการรับบริการฉีดวัคซีน ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งการเฝ้าสังเกตตนเองหลังจากที่รับวัคซีนแล้วกลับไปพักที่บ้าน จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการรับวัคซีน โดยเริ่มจาก จุดที่ 1 คือการลงทะเบียน จุดที่ 2 ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต จุดที่ 3 ประเมินความเสี่ยง ลงนามในใบความยินยอมการรับวัคซีน จุดที่ 4 รอฉีดวัคซีนโควิด-19 จุดที่ 5 ฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยใช้เวลาฉีดเพียง 5-7 นาที จุดที่ 6 พักสังเกตอาการ 30 นาที และสแกนไลน์ “หมอพร้อม” เพื่อใช้ติดตามอาการหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน จุดที่ 7 ก่อนกลับบ้าน พยาบาลจะตรวจสอบว่าเมื่อครบ 30 นาที แล้วอาการของผู้รับวัคซีนเป็นอย่างไร โดนจะความดัน (อีกรอบ) ก่อนให้คำแนะนำ และแจกเอกสารให้ความรู้ รวมถึงตรวจสอบใบนัดฉีควัคซีนเข็มที่ 2 จุดที่ 8 ประเมินความครอบคลุม อาการไม่พึงประสงค์ และเมื่อได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็ม จะได้รับใบยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทางไลน์ “หมอพร้อม” 9. เห็นผอ.รพ สมุทรสาคร 10.ซ้อมฉีดวัคซีน
นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร เผยทางโรงพยาบาลพร้อมฉีดวัคซีนให้กับทุกคน เพราะการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้ว แต่การฉีดวัคซีนโควิดต้องใช้เวลานานกว่าการฉีดวัคซีนทั่วไป เนื่องจากมีการเพิ่มขั้นตอนการดำเนินงาน โดยเฉพาะการพักสังเกตอาการหลังฉีด 30 นาที ซึ่งจากการฝึกซ้อมครั้งล่าสุด ทำให้คาดการณ์ได้ว่าแต่ละคนจะใช้เวลานานเท่าใด ส่วนประเด็นของการฉีดวัคซีนรอบนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องความยากของการฉีด แต่เป็นเรื่องของจำนวนวัคซีนที่ได้รับซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในประเทศ เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายคือ บุคลากรทางการแพทย์ และ กลุ่มเสี่ยงที่ทำงานด่านหน้า ประมาณ 1,900 คน โดยในสัปดาห์แรกคาดว่าจะสามารถฉีควัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายได้วันละประมาณ 500 คน ก่อนจะเพิ่มขึ้น เป็นวันละประมาณ 800–1,000 คน จากนั้นจึงจะทำการฉีดให้กับกลุ่มอื่นๆ ตามแผนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้.-สำนักข่าวไทย