กทม. 18 ก.พ.- ตำรวจกองปราบ จับกุมผู้ต้องหาพ่อลูก อ้างรู้จักทนายชื่อดัง ปลอมหมายศาลอายัดทรัพย์ หลอกเงินเหยื่อ เสียหายกว่า 6 ล้าน
ที่กองบังคับการปราบปราบ พลตำรวจตรีสุวัฒน์ แสงนุ่ม ผู้บังคับการกองปราบปราม พร้อมนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายเดชา ที่ถูกแอบอ้างชื่อและผู้เสียหายซึ่งเป็นอดีตตำรวจยศร้อยตำรวจเอก ร่วมกันแถลงจับกุมนายรังสรรค์ เจียรละม่อม อายุ 59 ปี และนายสุวิทย์ เจียรละม่อม อายุ 30 ปี พ่อลูกผู้ต้องหา ทก่อเหตุหลอกลวงเงินผู้เสียหาย ลูกสาวและเครือญาติ รวมกันเป็นเงินกว่า 6 ล้านบาท ที่บ้านพักในตำบลทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
พันตำรวจเอกปทักข์ ขวัญนา ผู้กำกับการ 4 กองคับการปราบปราม เปิดเผยว่า ผู้ต้องหามีการก่อเหตุมานานกว่า 2 ปี โดยเริ่มจากช่วงปลายปี 2562 ได้เข้าหาน้องสะใภ้ผู้เสียหายออกอุบายว่า ผู้ต้องหาถูกศาลอายัดทรัพย์ 293 ล้านบาท ทองคำแท่งหนัก 5 กิโลกรัม ที่พยายามนำทรัพย์สินเข้าประเทศแต่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งต่อมาศาลได้ยกฟ้อง และจำเป็นต้องใช้เงินวิ่งเต้นเพื่อนำทรัพย์สินดังกล่าวออกมา หากยินยอมช่วยเหลือจะแบ่งเงินให้ 10% หรือประมาณ 20 ล้านบาท จากนั้นก็มีการขอให้โอนเงินมาเรื่อยๆ โดยทุกครั้งก็จะมีเอกสารของทางราชการ มีการอ้างชื่อทนายเดชาว่าเป็นคนทำคดี และมีการลงลายมือชื่อของอดีตอัยการสูงสุดในเอกสารบางฉบับ เพื่อนำมาแสดงให้เห็นว่าเป็นเรื่องจริง จนผู้เสียหายมีการยืมเงินกันไปมาในครอบครัว รวมความเสียหายกว่า 6 ล้านบาท ส่วนการสอบสวน นายสุวิทย์ ลูกชาย รับว่ามีการหลอกลวงผู้เสียหายจริง เงินที่ได้มาก็นำไปใช้หนี้พนันออนไลน์ และจ่ายให้กับคนทำเอกสารปลอม ที่อ้างว่ารับมาจากต่างประเทศ ส่วนนายรังสรรค์ ผู้เป็นพ่อ อ้างว่าเชื่อที่ลูกชายให้ข้อมูลและคิดว่าเป็นเรื่องจริง แต่จากการสอบสวนตำรวจไม่ปักใจเชื่อคำให้การดังกล่าว ทั้งเรื่องที่อ้างว่ารับเอกสารมาจากบุคคลอื่น ก็ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ และจากการตรวจสอบเงินในบัญชีก็พบมีเงินหมุนเวียนมากถึงกว่า 30 ล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าน่าจะมีผู้เสียหายรายอื่นที่ถูกหลอกลวง ซึ่งล่าสุดก็พบข้อมูลผู้เสียหายอีก 2 กลุ่มที่ถูกหลอก และอยู่ระหว่างการติดตามวงเงินความเสียหาย ส่วนการติดตามทรัพย์สินพบว่าผู้ต้องหาเหลือเงินในบัญชีไม่มาก ซึ่งต้องขยายผลสืบสวนต่อ
มีรายงานข่าวว่า พฤติการณ์ที่ผู้ต้องหาใข้ในการหลอกลวง จะมีการอ้างชื่อทนายที่มีชื่อเสียง เช่น ทนายเดชา , ทนายประมาณ , ผู้ที่มีอำนาจในการเซ็นเอกสารค้ำประกัน , ข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด , สำนักงานตำรวจแห่งชาติ , กรมสรรพากร , ปปง. และกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ในการปลอมเอกสารต่างๆ ส่วนการตรวจสอบผู้ต้องหาพบว่า นายรังสรรค์ทำอาชีพขับรถบรรทุกสิบล้อขนส่งสินค้าทางการเกษตร ส่วนนานสุวิทย์ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ไม่พบว่ามีคดีติดตัวมาก่อน.-สำนักข่าวไทย