รัฐสภา 15 ก.พ.- ที่ประชุมวุฒิสภา เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กสทช. ด้วยเสียง 194 ต่อ 3 ไฟเขียวล้มกระบวนการสรรหาบอร์ด กสทช. และให้สรรหากรรมการชุดใหม่ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ประกาศบังคับใช้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (15 ก.พ.) นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ซึ่งเป็นฉบับที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระสองและวาระสาม
พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … (ร่าง พ.ร.บ.กสทช.) ได้กล่าวถึงสรุปผลการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ ว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กสทช.ครั้งนี้ ตามร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และร่างของสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการชี้แจงเหตุผลว่า เนื่องจากกระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. ตามกฎหมายปัจจุบัน ได้เกิดสภาพปัญหาในทางปฏิบัติบางประการ ทำให้การสรรหาและการคัดเลือกบุคคลมีข้อติดขัดไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับได้มีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. จึงเป็นที่มาและเหตุผลสำคัญในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กสทช. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. อันเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว
โดยร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 11 มาตราหลัก และ 6 มาตราย่อย โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ 1.มีการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการ กสทช. 2.แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามของกรรมการกสทช. กรณีเคยได้รับโทษจำคุก โดยคำพิพากษาให้ถึงที่สุดให้จำคุก 3.ปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหา ในการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้ารับการสรรหา และการกำหนดให้คณะกรรมการสรรหามีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยเกี่ยวกับคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาหรือผู้ได้รับลการคัดเลือกเพื่อแต่งตั้งเป็นกรรมการ กสทช. 4.ปรับปรุงลักษณะของผู้มีสิทธิสมัครเข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นกรรมการกสทช. และ 5.ปรับปรุงกระบวนการสรรหาคัดเลือก และแต่งตั้งกรรมการ กสทช. โดยในการปรับปรุงกระบวนการนี้ พบว่า กระบวนการกรรมการกสทช. ในปัจจุบัน กำหนดให้คณะกรรมการสรรหา คัดเลือกบุคคลในแต่ละด้าน ด้านละ 2 คน แล้วส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาให้เหลือ 1 คน โดยไม่ได้กำหนดจำนวนคะแนนเสียงที่จะถือว่าได้รับการคัดเลือกในการพิจารณาของวุฒิสภาไว้ ดังนั้นหากผู้สมัครคนใดได้รับเสียงข้างมาก ถึงแม้จะเป็นเพียง 1 เสียงก็ถือว่าบุคคลนั้นได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภา ตัวกฎหมายจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการสรรหาจากเดิม กรรมการสรรหา คัดเลือกมาจำนวนด้านละ 2 คน เปลี่ยนเป็นจัดหามาให้พอดีกับด้านคือ ด้านละ 1 คน จำนวน 7 ด้าน และเมื่อกรรมการสรรหา ดำเนินการคัดเลือกบุคคลใดแล้วให้เสนอรายชื่อต่อวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยผู้ได้รับเลือกต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของวุฒิสภา
ทั้งนี้มีสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง สงวนคำแปรญัตติไว้ในมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 6 ขอให้ทบทวนคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. มีความรอบด้านมากขึ้น เพราะหากกำหนดไว้เพียงแต่ ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การคุ้มครองผู้บริโภค และด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการระบุเจาะจงมากเกินไป ควรจะต้องเพิ่มด้านการศึกษา วัฒนธรรม และด้านการพัฒนาสังคม เพื่อให้การบริหารของ กสทช. มีทิศทางที่หลากหลายครอบคลุมกับบริบททางสังคม อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการได้ยืนยันว่าการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการ กสทช. มีความครบถ้วนสมบูรณแล้วและเชื่อว่ากรรมการฯ ที่ได้รับเลือกมีความรู้ความสามารถเกินกว่าที่กำหนดไว้ในแต่ละด้านอยู่แล้ว
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขลักษณะเฉพาะของผู้มีสิทธิสมัครเป็นกรรมการ กสทช. ไว้ในมาตรา 5 ใช้ข้อความแทนมาตรา 14/2 (3) ต้องเคยเป็นทหารหรือตำรวจที่มียศตั้งแต่พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอก ขึ้นไป ซึ่งถือว่าไม่ใช่ตำแหน่งระดับบริหาร พร้อมทักท้วงว่าการกำหนดตำแหน่งดังกล่าวไว้มีความแตกต่างอย่างไรเมื่อเทียบกับผู้เคยตำแหน่งรองอธิบดีที่เคยเป็นผู้บริหารมาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่เห็นชอบ มาตรา 5 (3) ตามที่คณะกมธ. แก้ไข โดยให้กลับไปใช้ตามที่สภาผู้แทนราษฎรเสนอ ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ผู้มีสิทธิสมัครรับการสรรหาเพื่อเป็นกรรมการ กสทช. มีคุณลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด (3) เป็นหรือเคยเป็นนายทหารหรือนายตำรวจที่มียศตั้งแต่พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี หรือพลตำรวจตรี
นอกจากนี้ ที่ประชุมวุฒิสภายังได้พิจารณา มาตรา 10 ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งของกรรมการ กสทช. โดย พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ส.ว. ในฐานะประธานกมธ. ชี้แจงตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่ทางกมธ.แก้ไข ให้บุคคลที่อยู่ระหว่างการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. เมื่อได้แต่งตั้งเป็นกรรมการแล้วสามารถดำรงตำแหน่งได้ 3 ปี ซึ่งแตกต่างจากร่างที่สภาฯส่งมา โดยกำหนดให้เลือกกรรมการชุดใหม่ ภายใน 15 วัน หลังร่างพ.ร.บ.นี้ประกาศบังคับใช้ ก็เพื่อให้ความเป็นธรรมกับบุคคลที่อยู่ระหว่างการสรรหาเป็น กสทช. ซึ่งมาตามกฎหมายกสทช. ฉบับเดิม ทั้งนี้ คาดว่าร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณาอยู่นี้จะเสร็จก่อนการสรรหา ทำให้กระบวนการสรรหานั้นต้องยกเลิก หรือคว่ำไปโดยอัตโนมัตินับจากวันที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่บังคับใช้ เพราะคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามนั้นแตกต่างกัน ทั้งนี้กมธ.ฯ ได้ปรับแก้เพื่อสร้างจุดสมดุลมากที่สุดของร่างกฎหมายระหว่างที่เสนอมาโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่ร่างกฎหมายรับมาจากสภาผู้แทนราษฎร
ด้าน นางสุวรรณี สิริเวชชะพันธ์ รองประธานกมธ. ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า สาเหตุที่เห็นด้วยกับร่างของสภาฯ เพราะมีการกำหนดไว้ว่าหากเป็นกรรมการ กสทช.ไม่ถึง 3 ปี สามารถกลับมาสมัครใหม่ได้
กระทั่งเวลา 15.00 น. นายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธานในที่ประชุมขณะนั้น สั่งให้ที่ประชุมลงมติ มาตรา 10 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมไม่เห็นชอบกับที่คณะกรรมาธิการแก้ไข ด้วยเสียง 158 ต่อ 42 งดออกเสียง 12 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ด้วยเหตุนี้ทำให้ต้องกลับไปใช้มาตรา 10 ตามที่สภาฯเสนอมา ซึ่งกำหนดให้มีการสรรหากรรมการชุดใหม่ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่มีการประกาศบังคับใช้ ดังนั้น กระบวนการการสรรหาบุคคลเป็นกรรมการ กสทช. ในขณะนี้ต้องล้มเลิกไปโดยอัตโนมัติ
ทั้งนี้ในวาระที่สาม ที่ประชุมเห็นด้วยกับร่างกฎหมายทั้งฉบับ ด้วยเสียง 194 ต่อ 3 งดออกเสียง 15 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง.-สำนักข่าวไทย