กรุงเทพฯ 4 ก.พ.-“ศักดิ์สยาม”ตรวจการบ้าน นโยบายปิดสถานีหัวลำโพง ย้ำยังใช้นโยบายเดิม แต่ให้รฟท.ไปศึกษาวิเคราะห์การจัดขบวนรถรองรับ กลุ่มที่ยังจำเป็นยังต้องเดินทางเข้าเมือง เช่น นักเรียน-นักศึกษาเพื่อให้ทราบจำนวนผู้เดินทางและขบวนรถชัดเจน และให้กลับมารายงานผลภายใน 1 เดือน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม เพื่อติดตามการทำงานของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้เป็นไปตามแผนเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ ปลายปี 2564 ว่า ตามแผนเปิดสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเปิดเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงตามกำหนดจะยังต้องเปิดให้บริกาเสมือนจริงในเดือน มี.ค. และเปิดให้ประชาชนทั่วไปทดลองในเดือน ก.ค. และเปิดทั้งระบบเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ย. ปีนี้
และย้ำว่า เมื่อเปิดให้บริการที่สถานีกลางบางซื่อแล้ว นโยบายการปิดสถานีหัวลำโพงยังคงมีอยู่ แต่จะหาแนวทางที่จะต้องลดผลกระทบผู้โดยสารที่จะเดินทางเข้า-ออก เมือง ในช่วงเช้า- เย็น สำหรับกลุ่มสำคัญ เช่น นักเรียน นักศึกษา กลุ่มคนทำงาน ที่ยังต้องเข้ามาศึกษา ทำงานในเขตเมืองอยู่ โดยให้ รฟท. ไปวิเคราะห์การจัดขบวนรถไฟชานเมือง ให้สอดคล้องจำนวนผู้โดยสารที่จะเดินทางจริง ว่ามีเท่าไหร่ และสุดท้าย ต้องใช้ขบวนรถกี่ขบวน
“ได้สั่งการให้ รฟท.พิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นในการเดินขบวนรถชานเมืองเข้าสู่สถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินทาง ของนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชนผู้ใช้บริการ โดยสอดรับกับนโยบายการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดเป็นหลักด้วย โดยข้อมูลที่ รฟท.เสนอมา ส่วนหนึ่งดีอยู่แล้ว แต่ขอให้กลับไปทำการวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มว่า ในกลุ่มที่ยังมีความจำเป็นต้องเดินทางเข้าเขตเมือง โดยให้เวลาทำการศึกษา 1 เดือนและกลับมารายงานให้กระทรวงคมนาคมทราบในวันที่ 4 มีนาคมนี้” นายศักดิ์สยามกล่าว
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังได้มอบหมายให้ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)ศึกษาจัดทำระบบรถเชื่อมต่อ หรือ ฟีดเดอร์เพื่อเตรียมรับคนจากสถานีชานเมืองเข้ามายังในเมืองด้วย
นอกจากนี้ในที่ปะชุม รฟท. ได้เสนอให้ตั้งศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร 3 มุมเมือง รอบ กทม. เพื่อรองรับแนวทางไม่บวนรถไฟ เข้ามายังเขตเมือง เพื่อลดผลกระทบปัญหาการจราจรติดขัด โดยศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารสายใต้ จะอยู่ที่ สถานีตลิ่งชัน ,ศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารสายเหนือจะอยู่ที่ สถานีรังสิต ,ศูนย์กลางเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารสายตะวันออก จะอยู่ที่ สถานีลาดกระบัง หรือ สถานีหัวหมาก โดย รฟท. แจ้งว่าหากให้ขบวนรถไฟจอดใน 3 จุดดังกล่าวจะทำให้ลดจุดตัดระหว่างรถไฟ และ ถนนในเขตเมืองรวมกว่า 24 จุดตัด
รวมทั้ง แนวทางการกำหนดอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ได้มอบให้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กับ รฟท. ไปพิจารณาร่วมกันในการกำหนดอัตราค่าโดยสารที่มีความเหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและรายได้ ของรฟท.
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า เบื้องต้นได้มีการกำหนดวันที่จะเปิดเดินรถเสมือนจริง เป็นวันที่ 26 มี.ค.2564 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสถาปนากิจการรถไฟ โดยจะกำหนดให้เป็นวันปฐมฤกษ์ให้บริการประชาชนบางส่วนในบางสถานี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพียงวันเดียว ส่วนการเปิดทดลองให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้บริการได้นั้น คาดว่าจะเป็นวันที่ 28 ก.ค.64 ก่อนจะเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปลายเดือน พ.ย.2564 .-สำนักข่าวไทย