กรุงเทพฯ 4 ก.พ. – EIC มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ตลอดทั้งปี 2021 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ (policy space) สำหรับกรณีเลวร้าย
ศูนย์วิจัยอีไอซี (EIC หรือ Economic Intelligence Center) ของ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ตลอดทั้งปี 2021 เพื่อรักษาขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ (policy space) โดยผลกระทบจากการกลับมาระบาดของ COVID-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ ทำให้ EIC ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2021 จะเติบโตเพียง 2.2% (จาก -6.5% ในปี 2020) ซึ่งถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่ค่อนข้างช้า และน่าจะทำให้ กนง. รักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องเพื่อสนับสนุการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในไตรมาสแรกปีนี้ แต่จะกลับมาฟื้นตัวได้ตามคาดในไตรมาสสองเป็นต้นไป ทำให้การส่งออกไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์เดิมเล็กน้อย โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงไตรมาสแรกของปี 2021 จากการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในหลาย ๆประเทศ ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น อย่างไรก็ดี ภาครัฐของหลาย ๆ ประเทศรวมถึงไทยต่างหลีกเลี่ยงมาตรการปิดเมืองแบบทั่วประเทศ ทำให้ภาคการผลิตยังสามารถดำเนินการได้ นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทำให้ผลกระทบของการระบาดระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจโลกจะมีน้อยกว่าการระบาดระลอกแรก สำหรับในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ตามคาด จากการฉีดวัคซีนในบางประเทศ และแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง โดย IMF ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2021 เป็น 5.5% (จาก 5.2%) และคาดว่าการค้าโลกปี 2021 จะขยายตัวที่ 8% ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอลงในไตรมาสแรก ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ของผู้ส่งออกไทย EIC จึงปรับคาดการณ์ส่งออกไทยเป็นขยายตัวที่ 4.0% (จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.7%)
ด้านภาคการท่องเที่ยวไทยจะยังไม่ฟื้นตัวนัก เนื่องจากการเปิดประเทศของกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทยมีแนวโน้มช้ากว่าคาด EIC คาดว่าไทยจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยไม่ต้องกักตัวในไตรมาสที่ 3 ปี 2021 ให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนและต้องผ่านการตรวจไม่พบเชื้อไวรัสในร่างกายแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่ฉีดวัคซีนให้ประชากรได้เป็นจำนวนมากในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ ซึ่งมีสัดส่วนการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยไม่มากนัก แต่ประเทศในเอเชีย (ซึ่งมีสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด) จะมีภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้ากว่านั้น โดยคาดว่าทางการจีนจะอนุญาตให้ประชาชนของตนเดินทางไปต่างประเทศได้อีกครั้งอย่างเร็วในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 ซึ่งช้ากว่าที่เคยคาดไว้เดิม ดังนั้น EIC จึงคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 เพียง 3.7 ล้านคน
ขณะที่การระบาดรอบใหม่ในไทยจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยคาดว่าผลกระทบจะน้อยกว่าการระบาดในรอบแรก แต่มีแนวโน้มซ้ำเติมปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยภาครัฐไทยได้ดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดในแนวทางที่สอดคล้องกับต่างประเทศ และภาคธุรกิจไทยก็ได้ปรับตัวรับมือกับการระบาดแล้วเช่นกัน อีกทั้งยังมีเม็ดเงินจากภาครัฐและมาตรการทางการเงินที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากรายได้ที่ขาดหายไปของครัวเรือนได้ระดับหนึ่ง ทำให้ผลกระทบต่ออุปสงค์ภายในประเทศน่าจะไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดระลอกแรก อย่างไรก็ดี ผลจากการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้อาจซ้ำเติมปัญหาแผลเป็นทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME และแรงงานในธุรกิจด้านบริการที่มีความเปราะบางอยู่แล้วด้วยเหตุนี้ กนง. จึงน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ตลอดทั้งปี 2021 เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาวะที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก และรายได้ครัวเรือนและรายได้ธุรกิจปรับลดลง ทั้งนี้ กนง. น่าจะไม่ลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมเพื่อรักษาขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงินไว้ (policy space) สำหรับรองรับความเสี่ยงด้านต่ำในอนาคต ซึ่งความเสี่ยงที่อาจกดดันให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม (อย่างมากอีก 1 ครั้งที่ 25 bps) อาจมาจาก 1) การแจกจ่ายวัคซีนหยุดชะงักและวัคซีนมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่คาด 2) การควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไทยทำได้ช้ากว่าที่ประเมิน รวมถึงการแพร่ระบาดในระลอกต่อ ๆ ไป
ที่อาจเกิดขึ้นได้ 3) ผลกระทบจากแผลเป็นของเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะแนวโน้มการปิดกิจการและตลาดแรงงานที่เปราะบาง อาจทำให้ภาระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับสูงขึ้นจนส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม 4) ปัญหาเสถียรภาพการเมืองในประเทศ ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และ 5) ค่าเงินบาทที่แข็งเร็วกว่าคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
ทั้งนี้การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหมาะสม ตรงจุด และเพียงพอ ผ่านเครื่องมือนโยบายอื่น เช่น มาตรการกระตุ้นภาครัฐ จะมีความจำเป็นมากขึ้น โดย EIC มองว่า การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจไม่เหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือที่ส่งผลเป็นวงกว้าง (blunt tool) และไม่สามารถแก้ไขปัญหา
ได้อย่างเฉพาะเจาะจงดังที่ กนง. แสดงความกังวล
ด้านมาตรการภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญต่อการพยุงเศรษฐกิจมากขึ้น โดยการดำเนินนโยบายควรจะมุ่งเป้าช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นพิเศษ ซึ่งในปัจจุบัน ภาครัฐยังมีเม็ดเงินที่สามารถพยุงเศรษฐกิจได้คิดเป็นวงเงินราว 6.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่เหลือราว 5 แสนล้านบาท และเม็ดเงินในส่วนของงบกลางอีกประมาณ 1.4 แสนล้านบาท (งบกลางเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 4 หมื่นล้านบาท และงบกลางเพื่อกรณีฉุกเฉิน 9.9 หมื่นล้านบาท)
นโยบายการเงินอาจถูกผ่อนคลายเพิ่มเติมผ่านเครื่องมืออื่นนอกจากดอกเบี้ยนโยบาย โดยล่าสุด ธปท. ได้ต่ออายุมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ออกไปจนถึงมิถุนายน ปี 2021 ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบเป็นรายกรณีไป (ไม่ได้ให้การช่วยเหลือเป็นการทั่วไป) จึงอาจช่วยบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดต่อครัวเรือนได้ตรงจุดกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพสถาบันการเงิน และประสิทธิภาพของการส่งผ่านนโยบายอีกด้วย สำหรับในระยะต่อไป คาดว่าอาจมีการผ่อนคลายเกณฑ์ของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) เพื่อจูงใจให้มีการปล่อยกู้มากขึ้น โดยอาจมีการพิจารณาเพิ่มวงเงินที่สถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้ ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของสถาบันการเงิน และรัฐบาลอาจเข้ามาช่วยชดเชยความเสียหายมากขึ้น . – สำนักข่าวไทย