รัฐสภา 27 ม.ค. – พาณิชย์เสนอแก้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ เพิ่มประสิทธิภาพ ทันโลก-ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า กระทรวงพาณิชย์ได้นำการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ…เนื่องจากการที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อให้เป็นไปตามสนธิสัญญาดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ สร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของลิขสิทธิ์ในการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ตจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
อย่างไรก็คงตาม หลักการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังต่อไปนี้ คือ 1.เพิ่มบทนิยามคำว่าผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4
- แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า มาตรการทางเทคโนโลยีโดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4 เช่นเดียวกัน
- ยกเลิกบทนิยามคำว่า การหลบเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีโดยแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 4
- แก้ไขเพิ่มเติมการคุ้มครองอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่ายแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 21
- แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการ โดยยกเลิกมาตรา 32/3 เพิ่มส่วนที่ 7 ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการในมาตรา43/1 มาตรา 43/2 มาตรา 43/3 มาตรา 43/4 และมาตรา 43/5 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 53
- แก้ไขเพิ่มเติมให้การทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเข้าถึงไม่เกิดผล เป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 53/4
7.แก้ไขเพิ่มเติมข้อยกเว้นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี โดยแก้ไขมาตรา 53/5 (1) 8. กำหนดให้การให้บริการผลิต ขาย หรือแจกจ่ายซึ่งบริการ ผลิตภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ที่ทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล เป็นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีและกำหนดข้อยกเว้นความรับผิดสำหรับกรณีดังกล่าว รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติโทษให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว โดยเพิ่มเติมมาตรา 53/6 มาตรา 53/7 มาตรา 53/8 และแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 70/1 9. กำหนดให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลิขสิทธิ์ซึ่งพ้นตำแหน่งตามวาระปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ โดยเพิ่มเติมในมาตรา 57 วรรคสาม
ทั้งนี้ มีสาระสำคัญของการแก้ไข มี 4 ประเด็น ดังนี้ 1.เป็นเรื่องของการแก้อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ของภาพถ่าย จาก 50 ปี เป็น ตลอดชีวิตของเจ้าของลิขสิทธิ์ และบวกไปอีก 50 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ของ WIPO ได้ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้เคยมีมติเห็นชอบให้เข้าเป็นภาคีแล้วเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561 2.เป็นเรื่องของการแก้กฎหมายให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต สามารถนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบได้ โดยไม่ต้องอาศัยคำสั่งศาลเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 3.เป็นการแก้กฎหมายให้จากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือในเรื่องของการขายกล่องเถื่อนที่มีการดูดสัญญาณดูภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ กีฬา เอาผิดตามกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้นั้น เมื่อแก้ไขแล้วก็จะสามารถที่จะเอาผิดกับกล่องเถื่อนที่ดูดสัญญาณเหล่านี้ได้ โดยมีโทษกำหนดไว้ในรายละเอียดของกฎหมาย 4.การแก้กฎหมายนี้จะช่วยให้ผู้ทรงคุณวุฒิตามกฏหมายลิขสิทธิ์ที่หมดวาระแล้วซึ่งปัจจุบันเมื่อหมดวาระก็ต้องพ้นไปเลยนั้น ก็จะสามารถอยู่ทำหน้าที่ต่อไปได้จนกว่าจะมีคนใหม่เข้ามาปฎิบัติหน้าที่แทน . – สำนักข่าวไทย