กรุงเทพฯ 13 ม.ค.- .ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย คาดการระบาดระลอกใหม่ของโควิดจะทำให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยเสียหายประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ปีนี้คาดจะมีนักเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเพียง 4.4 ล้านคน และปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีเหลือ เติบโต 2.5%
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย พร้อมด้วยนายมานะ นิมิตรวานิช นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันแถลงข่าว Economic Outlook 2021 โดยระบุว่า จากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในรอบที่สอง ภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2564 คาดว่าจะเสียหายประมาณ 1.1 แสนล้านบาท และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพียง 4.4 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาคือนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดแล้วซึ่งจะต้องติดตามดูกันว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้แต่ละประเทศจะมีการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ สำหรับการคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ จะขยายตัว 2.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนการระบาดรอบสองปีนี้จะขยายตัว 3.5% ซึ่งถ้าหากรัฐบาลไม่ได้ออกมาตรการเยียวยา “เราชนะ ” 3,500 บาท/เดือน ในระยะเวลา 2 เดือน(ก.พ.-มี.ค.) คาดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวเพียง 1.5% และภาพรวมแล้ว การเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจะสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัจจัยลบจากปัญหาโควิด แต่ก็มีปัจจัยบวกเข้ามาคือมาตรการเยียวยาหลายด้านคาดจะมีเม็ดเงินเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ประกอบการรายใดสามารถปรับตัวได้เร็วในเรื่องของเศรษฐกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม ( กรีน อีโคโนมี ) เช่น การใช้รถยนต์ไฟฟ้า การสร้างสถานีอัดปะจุรถไฟฟ้า ก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ ทั้งนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ส่วนการกลับมาฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเหมือนกับในปี2562 คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปี โดยคาดว่าปี 2565 เศรษฐกิจโลกจะกลับมาดีเหมือนเดิมเพราะประชาการโลกได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแล้ว
นายมานะ นิมิตรวานิช นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโจ ไบเด้น ในวันที่ 20 มกราคมนี้ นโยบายของนายโจ ไบเด้น จะกลับไปที่นโยบาย กรีน อีโคโนมี เช่นการสร้างสถานีรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นซึ่งนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาดของไทยจะได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย
ส่วนนโยบายการค้าของจีนตามแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 14 ปี2564-2568 ซึ่งจะมีการประชุมเดือนมีนาคมนี้ จีนจะกลับไปใช้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศด้วยการผลิตและบริโภคในประเทศมากขึ้น ลดการนำเข้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย –สำนักข่าวไทย .