กทม. 9 ม.ค.-จุฬาฯ เตรียมทดลองฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทย ในอาสาสมัครเฟสแรกหลังสงกรานต์ ขณะวัคซีนที่ผลิตในไทยคาดแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ย้ำโรคโควิด-19 น่ากลัวกว่าการฉีดวัคซีน
ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของไทย ว่า ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ในชื่อว่า “CU-Cov19” ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการผลิต และระหว่างรอโรงงานไทยมีความพร้อมรับเทคโนโลยีมาผลิตวัคซีนเอง ขณะนี้ได้จ้างโรงงานในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ผลิตวัคซีนก่อนเพื่อทดสอบในอาสาสมัคร คาดว่าผลิตเสร็จหลังสงกรานต์ และส่งมาไทยในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน และฉีดในอาสาได้ และหลังจากนั้นประมาณเดือน มิถุนายน 2564 จะเข้าสู่การทดลองในอาสาสมัครระยะที่ 2 ต่อไป
ส่วนไทยจะผลิตวัคซีนได้จริงในไทยและคุณภาพสูงเท่าต่างประเทศ ตั้งเป้าจำนวน 1-5 ล้านโดส คาดแล้วเสร็จภายในปลายปีนี้ ซึ่งต้องผ่านขั้นตอนการวิจัยระยะที่ 1 เพื่อหาโดสที่เหมาะสมในคนไทยและความปลอดภัย และระยะที่ 2 ทดลองฉีดในอาสาสมัครอายุต่างกันกลุ่มอายุน้อย ระหว่าง 18-55 ปี และกลุ่มสูงอายุ 65-75 ปี ส่วนระยะที่ 3 ต้องประเมินจากสถานการณ์ทั่วโลก ว่าอย.ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินได้หรือไม่ แต่หากต้องวิจัยระยะที่ 3 อาจต้องใช้เวลานานอีกหลายเดือน
ไทมไลน์การฉีดวัคซีนทั่วโลกล่าสุดฉีดไปแล้วกว่า 15 ล้านคน อย่างสหรัฐอเมริกา ประมาณ 5 ล้านคน เฉลี่ยวันละ 3 แสน ถึง 3 แสนห้าคน อังกฤษกว่า 1ล้านคน เฉลี่ยวันละ 1 แสนคน ยุโรปประมาณ 8 ล้านคน อิสลาเอล กว่า 1 ล้านคนจาก 8 ล้านคน ทั้งนี้เกินครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 8 ล้านคนฉีดชนิด mRNA ส่วนอีก 5 ล้านคนในจีนฉีดวัคซีนของจีน เฉลี่ยวันละ 1แสนคน ซึ่งวัคซีนชนิดนี้จะนำเข้ามาในไทยด้วย
พร้อมฝากรัฐบาลเร่งเรื่องความชัดเจนการตัดสินใจอย่างรวดเร็วและทุ่มเทอย่างจริงจัง ว่าไทยต้องผลิตวัคซีนให้ได้ในสิ้นปีนี้ และมีงบประมาณลงมา เพื่อให้งานเดินเพราะการสั่งซื้อวัตถุดิบสารตั้งต้นต้องใช้เวลาจอง อาจเกิดความล่าช้าได้
สำหรับการเตรียมความพร้อมเมื่อฉีดวัคซีนแล้วควรดูอาการก่อนอย่างน้อย 15-30 นาที อย่าเพิ่งรีบกลับบ้าน และต้องฉีดถึง 2 เข็มจากนั้นหลีกเลี่ยงเข้าพื้นที่เสี่ยงเพราะต้องมีระยะเวลาสร้างภูมิ ประมาณ 1-2 เดือน หลังฉีดวัคซีนแล้วยังต้องป้องกันใส่หน้ากาก ล้างมือ ไปอีก 6 เดือน สร้างวัฒนธรรมสุขลักษณะที่ดี เพราะไม่รู้ว่าวัคซีนได้ผลกับทุกคนหรือไม่และเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
ส่วนความกังวลของประชาชนที่ไม่มั่นใจในวัคซีน ควรฉีดหรือไม่นั้น ศ.นพ.เกียรติ ชี้วัคซีนโควิด-19 ที่ทั่วโลกรับรอง มีความปลอดภัยระดับหนึ่งและมีประสิทธิภาพสูง และควรประเมินกลุ่มเสี่ยงควรได้ฉีดก่อน และกลุ่มอาชีพที่มีความสำคัญต่อสังคม ที่ต่างประเทศพบอาการแพ้เป็นจำนวนต่ำมาก ประมาณ 1 ต่อ 6 แสนคนเท่านั้น ซึ่งเมื่อวัคซีนมาถึงไทยทั่วโลกได้ฉีดไปแล้วประมาณ 100 ล้านคนจึงไม่น่ากังวลพร้อมย้ำโรคโควิด-19 น่ากลัวกว่าการฉีดวัคซีน และต้องพบการแพร่ระบาดในประเทศต่อไป.-สำนักข่าวไทย