กรุงเทพฯ 8 ม.ค.-กรมประมงร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชิญ 3 สมาคมแปรรูปอาหารสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภค ถึงความปลอดภัยในสินค้าสัตว์น้ำ ยืนยันโควิด-19 ไม่ติดต่อจากคนสู่สัตว์น้ำ ส่วนสินค้าที่ผ่านความร้อนสูง ไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ย้ำการตรวจเชิงรุกกลุ่มแรงงานในโรงงานแปรรูปต่างๆ เป็นผลดี ทำให้แยกผู้ติดเชื้อออกได้เร็ว ควบคุมการแพร่กระจาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันนี้ (8 ม.ค.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยกรมประมงจัดแถลงข่าวเรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการประมง” โดยมีนายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมงร่วมชี้แจงมาตรการต่างๆ กับสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทยกล่าวว่า สมาคมผู้ผลิตอาหารแปรรูปทุกแห่งร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามมาตรการรักษาสุขอนามัยในการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ เริ่มมาจากตลาดกลางกุ้ง จ. สมุทรสาคร ซึ่งในระยะแรกทางภาครัฐดำเนินมาตรการเชิงรุกในการตรวจโรคไม่เพียงพอ จนกระทั่งโรงงานทูน่ากระป๋องซึ่งมีข่าวว่า พบแรงงานติดเชื้อจำนวนมาก ตัดสินใจให้มีการตรวจหาเชื้อในผู้ปฏิบัติงานในโรงงานทั้งหมด โดยขณะนี้ทางจังหวัดสมุทรสาครออกประกาศจะสุ่มตรวจหาเชื้อในโรงงานต่างๆ แห่งละ 50 คน หากพบผลบวก 10 คนขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 20 จะตรวจทั้งโรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการยินดีร่วมมือ เมื่อพบผู้ติดเชื้อหรือผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะให้หยุดปฏิบัติงานทันที เพื่อไม่ให้เป็นพาหะต่อไป สิ่งจำเป็นคือ การกักตัว 14 วัน ดังนั้นจะต้องมีโรงพยาบาลสนามรองรับ
สำหรับสินค้าสัตว์น้ำที่ส่งออกนั้น ยังไม่ได้รับผลกระทบ มีคำสั่งซื้อเข้ามาเหมือนเดิม แต่ติดขัดที่ขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต และเงินบาทที่แข็งค่า ยืนยันว่า สินค้าที่ส่งออก ไม่มีประเทศที่นำเข้าตรวจพบการปนเปื้อน แล้วตีกลับเลย
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมงกล่าวว่า กรมประมง ได้เพิ่มมาตรการในการดูแล ควบคุม ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐาน ในกระบวนการผลิตสินค้าประมงในโรงงานแปรรูปอย่างเข้มงวด เพื่อยืนยันว่า สินค้าประมงที่ผลิตจากโรงงานที่มีมาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) และ Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP) มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด นอกจากนี้ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย กำหนดมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำที่มีความเข้มข้นมากขึ้นทุกด้าน มาตรการดังกล่าวประกอบด้วย การกำจัดหรือลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ ingredient และภาชนะบรรจุ โรงงานแปรรูป
โดยสัตว์น้ำต้องจัดทำมาตรการเพื่อลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ที่มากับวัตถุดิบสัตว์น้ำ ingredient และภาชนะบรรจุ เช่น จัดทำข้อปฏิบัติในการควบคุมและป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ส่งให้กับ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้า ทำความสะอาดบริเวณผิวสัมผัสภายนอกที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของรถที่ขนส่งวัตถุดิบ ingredient และภาชนะบรรจุ เข้ามาในโรงงานโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อและวิธีการทำความสะอาดที่เหมาะสม เป็นต้น ควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวดโรงงานต้องมีการควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยตลอดสายการผลิต การนำสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ เช่น ฆ่าเชื้อบริเวณผิวสัมผัสภายนอกที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของรถบรรทุก ตู้คอนเทนเนอร์ที่เข้ามาในโรงงาน และฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์ก่อนบรรจุผลิตภัณฑ์ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสม เป็นต้น
สำหรับด้านสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำโรงงานต้องปฏิบัติตามมาตรการพิเศษเพื่อควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในสถานที่ผลิตอาหาร เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 ในผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกที่กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำขึ้น เพื่อป้องกันและลดโอกาสการปนเปื้อนเชื้อโควิด-19 จากคนสู่สินค้าสัตว์น้ำ
นายวิชาญกล่าวย้ำว่า สินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำไทยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งสด และแปรรูป สามารถรับประทานได้อย่างมั่นใจ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื่องจากยังไม่มีรายงานการตรวจพบเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรน่า 2019 อยู่ในตัวของสัตว์น้ำแต่อย่างใด อีกทั้งสัตว์น้ำเป็นสัตว์เลือดเย็นไม่มีปอดแต่ใช้เหงือกในการหายใจ และยังมีความแตกต่างของผิวเซลล์ ซึ่งปลามีโครงสร้างไม่เหมือนคนทั้งหมด ทำให้โอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์เข้าสู่เซลล์ของสัตว์น้ำเป็นไปได้ยาก อีกทั้งยังไม่เคยมีรายงานการเกิดโรคจากเชื้อไวรัส. กลุ่มเดียวกันนี้ได้แก่ SAR CoV2 และ MERS ในสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เลือดเย็นมาก่อน.-สำนักข่าวไทย