ศาลฎีกา 24 ธ.ค.-ประธานศาลฎีกาพอใจภาพรวมการทำงานปีที่ผ่านมา เร่งรัดการพิจารณาคดีให้เร็วขึ้น ลดปริมาณคดี ลดการคุมขัง นำเทคโนโลยีมาใช้อ่านคำพิพากษาผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรน ลดขั้นตอน ปล่อยตัวเร็ว
คณะผู้สื่อข่าวประจำศาลยุติธรรม พร้อมด้วยบรรณาธิการข่าว เข้าเยี่ยมคารวะนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เนื่องในโอกาสปีใหม่ 2564 พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องการทำงาน โดยนางเมทินีแสดงความพอใจภาพรวมการทำงานของศาลฎีกาที่พร้อมจะเร่งรัดคดีและอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน เพื่อหวังให้ศาลฎีกาเป็นที่ยอมรับและเป็นที่พึ่งของประชาชนได้
ทั้งนี้ ปี 2563 ศาลฎีกามีปริมาณคดี (นับถึงวันที่ 23 ธ.ค.) ที่ต้องพิจารณา 25,316 คดี แยกเป็นคดีที่ต้องพิจารณาและทำเป็นคำพิพากษา 11,623 คดีเป็นคำร้องขออนุญาตฎีกา 13,693 คดี โดยพิจารณาแล้วเสร็จ 20,545 คดี คิดเป็นปริมาณคดีแล้วเสร็จในอัตราร้อยละ 81.15 คงมีคดีค้างพิจารณาเพียง 4,771 คดี เมื่อเทียบกับปี 2562 ศาลฎีกามีปริมาณคดีที่ต้องพิจารณา 22,091 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 17,338 คดี ในอัตราร้อยละ 78.48 แสดงให้เห็นว่าแม้ปริมาณคดีในปี 2563 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่ศาลฎีกายังสามารถพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จได้ในอัตราเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2.69 ยังคงไว้ซึ่งคุณภาพของคำพิพากษาศาลฎีกาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยเฉพาะคดีที่ศาลฎีการับไว้พิจารณาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันพิจารณาแล้วเสร็จเกือบทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นไปตามมาตรฐานระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่าจะใช้เวลาพิจารณาพิพากษาคดีในชั้นฎีกาไม่เกิน 12 เดือน
สำหรับปีหน้าศาลฎีกาจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาพิจารณาพิพากษาคดี ไว้ว่าคดีที่ต้องพิจารณาและทำเป็นคำพิพากษาแล้วเสร็จไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ ส่วนคดีที่ต้องพิจารณาและทำเป็นคำสั่งคำร้องขออนุญาตฎีกาแล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ ซึ่งศาลฎีกายังให้ความสำคัญกับคดีที่จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยมีนโยบายที่จะพิจารณาคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ปัจจุบันมีคดีที่จำเลยต้องขังค้างพิจารณาในศาลฎีกาประมาณ 337 คดี เป็นคดีที่ค้างพิจารณาเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน 13 คดี นอกนั้นเป็นคดีที่ค้างพิจารณายังไม่เกิน 6 เดือน ศาลฎีกาจึงจะกำหนดมาตรฐานระยะเวลาสำหรับคดีที่จำเลยต้องขังระหว่างพิจารณาไว้ว่าจะต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยและเพื่อเป็นการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น
ทั้งนี้ เพื่อให้จำเลยที่ต้องขังระหว่างพิจารณาได้รับทราบคำพิพากษาศาลฎีกาโดยเร็ว ศาลฎีกาได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสนับสนุนงานพิพากษาคดี ด้วยการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาให้จำเลยที่ถูกคุมขังในเรือนจำฟังผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ซึ่งดำเนินการมาแล้ว 20 คดี ส่งผลให้จำเลยที่ถูกคุมขังได้รับทราบคำพิพากษาศาลฎีกาเร็วขึ้น หากคดีนั้นในที่สุดแล้วศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง จะออกหมายปล่อยทันที เพื่อให้ผลจากการถูกคุมขังโดยไม่จำเป็น หรือหากพิพากษาลงโทษจำคุก จะออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดทันที ซึ่งจะทำให้จำเลยได้รับสิทธิเป็นนักโทษเด็ดขาดที่อาจได้รับประโยชน์ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ หรืออาจได้รับสิทธิพระราชทานอภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ โดยศาลฎีกาตั้งเป้าไว้ว่าในปีหน้าจะอ่านคำพิพากษาผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียงให้ได้ทุกคดี.-สำนักข่าวไทย