กทม. 8 ธ.ค.63 – สกสว. เดินเครื่องพัฒนาโรดแมปวิจัย 10 อุตสาหกรรม หวังช่วยฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยสู่ยุค 4.0
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขา เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0 ครั้งที่ 3 ณ ห้องเวิลด์บอลรูม โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธาน กสว. กล่าวว่า การจัดทำของแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ ในโครงการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรายสาขาเพื่อรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยมุ่งสู่ยุค 4.0 เป็นโครงการจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 10 สาขา เพื่อกำลังสำคัญในการสร้างความเติบโตทางนวัตกรรมของประเทศ ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดในประเทศและต่างประเทศได้ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จะดำเนินการวางกรอบการวิจัย และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง โดยจะเริ่มต้นด้วย 5 อุตสาหกรรมเป้ามหาย 1. อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร
ส่วนอีกกลุ่มเข้าหมายถัดไป คือ 5 อุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน และมีผู้สนใจลงทุน ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4. อุตสาหกรรมดิจิทัลและ 5. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายแรก เป็นจุดที่ไทยมีความพร้อมในการพัฒนา โดยจะมีมีการสนับสนุนทรัพยากรในการวิจัยต่อเนื่องในปี 2564-2566 ขณะที่การทำแผนที่นำทางจะช่วยชี้ชัดว่าแต่ละภาคส่วนจะเดินหน้าไปในทิศทางกลุ่มอุตสาหกรรมใดก่อนหลัง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทยมีประสิทธิภาพ สร้างมูลค่าในระดับสูงให้กับประเทศ
Myh’ouhสกสว. มุ่งหวังให้เป็น National Technology R&D Roadmap ของประเทศไทย ที่ผ่านการมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น และปรับปรุงจากทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนําไปใช้กําหนดทิศทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เชื่อมต่อกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมของทั้งไทยและระดับนานาชาติ รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรและการยกระดับขีดความสามารถของเครือข่ายนักวิจัยไทยที่เหมาะสม การจัดทำแผนที่นำทางการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนั้น นับเป็นกระบวนการสำคัญ ที่เชื่อมโยงการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้ากับการคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรม ธุรกิจ ตลาด รวมไปถึงการวิเคราะห์นโยบายและระบบสนับสนุนที่จำเป็น โดย สกสว. จะนำข้อมูลที่ได้ ไปใช้ในการจัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกิดการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างถูกทิศทางตามที่ประเทศควรก้าวไป โดยผ่านความร่วมมือและบูรณาการจากหน่วยงานบริหารงานวิจัยและหน่วยงานในระบบวิจัยทุกภาคส่วน โดยมี สกสว. เป็นฝ่ายเลขานุการทำหน้าที่ด้านการสนับสนุนวิชาการให้กับคณะกรรมการ
ด้าน รศ.ดร.ณัฐสิทธิ์ เกิดศรี ผู้อำนวยการโครงการจัดทำแผนที่นำทางเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า แผนที่นำทางเทคโนโลยี ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจที่ต้องเตรียมรับมือกับเทคโนโลยีใหม่ มักจะนำ แผนที่นำทางเทคโนโลยี หรือTechnology Roadmap (TRM) มาใช้ในการวิเคราะห์และวางแผนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในอนาคต ให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจหลักขององค์กร การทำ TRM คือการออกแบบการทำงานที่คำนึงถึงวิสัยทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจขององค์กรในระยะยาว ทั้งในเรื่องของเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ตลาด ผลิตภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนา การจัดหา ทรัพยากร และการคาดการณ์การเกิดขึ้นของเทคโนโลยีอุบัติใหม่ของโลก
โดยการจัดประชุมในวันนี้ยังให้ทุกภาคส่วนทราบข้อมูลบทบาทการทำงานของ สกสว. ในการพัฒนาโรดแมปวิจัย 10 อุตสากรรม ต่อมามีการประชุมเชิงปฏิบัติการรายอุตสาหกรรม ที่มีการนำเสนอผลการวิเคราะห์จัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยี และแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นสำคัญในการพัฒนาแผนที่นำทางเทคโนโลยี .-สำนักข่าวไทย