ปทุมธานี 26 พ.ย.-“ไอติม” ชี้พลังคนรุ่นใหม่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่รัฐธรรมนูญปี60 ยังมีความล้าหลัง ฝั่ง “น้ำ มิสแกรนด์ฯ 2020” ย้ำทุกคนต้องแสดงความเห็นได้โดยปราศจากความกลัว
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า เปิดเผยในงานเสวนา “การเมืองของคนรุ่นใหม่ : เปลี่ยนประเทศด้วยตัวเรา” ซึ่งอยู่ภายในงาน “มหกรรมความยั่งยืน : THAMMASAT SUSTAINABILITY FESTIVAL AND OPEN HOUSE” ประจำปี 2563 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียได้เปลี่ยนการเมืองของประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งการเกิดขึ้นของแพลทฟอร์มต่างๆ ได้ทำให้คนหลายรุ่นเข้าถึงข้อมูลที่แตกต่างกันออกไปมากขึ้น คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลทั้งภายในและภายนอกประเทศที่หลากหลายมากไปกว่าข้อมูลที่ถูกคัดกรองจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ทำให้คนรุ่นใหม่มีความคิดเป็นของตัวเอง และทำให้เขาสามารถเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับคุณค่าที่ยึดถือได้ เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน จึงมองว่าตัวเองเป็นคนของประเทศใดประเทศหนึ่งน้อยลง แต่มองว่าตัวเองเป็นคนของโลกมากขึ้น
นายพริษฐ์ กล่าวว่าการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดียทำให้ประชาชนและคนรุ่นใหม่มีอำนาจมากขึ้น ตั้งแต่อำนาจในการแสดงความคิดเห็น เห็นได้จากทวิตเตอร์ที่กลายมาเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถพูดคุยในเรื่องที่ตัวเองสงสัยหรือมีคำถามได้ ซึ่งความคิดเห็นเหล่านั้นยังมีอำนาจที่จะกดดันผู้มีอำนาจในสังคมได้ เช่น ปรากฏการณ์แฮชแท็กเราไม่เอาเรือดำน้ำ จนทำให้สุดท้ายรัฐบาลชะลอโครงการออกไปนอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนมีอำนาจเรื่องการตรวจสอบผู้มีอำนาจได้มากขึ้น จากในอดีตที่เราต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญคนใดคนหนึ่งศึกษาหาข้อมูลในเรื่องต่างๆ เพื่อตรวจสอบความไม่ชอบมาพากล แต่ปัจจุบันโซเชียลมีเดียช่วยให้ทุกคนที่มีความรู้แตกต่างและหลากหลายเข้ามาช่วยกันตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว
ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยเวลานี้เหมือนการชักเย่อ โดยฝั่งหนึ่งเป็นพื้นที่ให้ประชาชนเฉพาะคนรุ่นใหม่ได้แสดงออกมากขึ้นเพื่อผลักดันประเทศไปข้างหน้า แต่อีกฝั่งกลับถูกดึงด้วยกลับถูกดึงด้วยกฎหมายที่ยังคงล้าหลังอยู่ เช่น กรณีนักการเมืองคนรุ่นใหม่ชื่อดังของโลกทั้ง 3 คน ได้แก่ มารี แบล็ค ที่เป็น ส.ส.สก็อตแลนด์ ด้วยอายุ 20 ปี มีบทบาทผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ สิทธิสมรสเท่าเทียมทางเพศ , ไซเอ็ด ซาดิก อับดุล ราห์มาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเยาวชนและกีฬามาเลเซีย วัย 25 ปี ที่มีบทบาทผลักดันกีฬา E-Sports ในมาเลเซียให้ก้าวหน้า และ ซานนา มาริน ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ ในวัย 34 ปี ซึ่งหากทั้ง 3 คน อยู่ไทยจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งหล่านี้ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ ส.ส. ต้องมีอายุ 25 ปี หรือรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีต้องมีอายุ 35 ปีขึ้นไป
นายพริษฐ์ ย้ำว่า ในไทยยังมีความจำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมของประชาชน เนื่องจากในการเลือกนายกรัฐมนตรีต้องใช้รวมทั้งหมด 750 เสียง แบ่งเป็นคะแนนเสียงจากประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งราว 38 ล้านคน ที่สามารถเลือก ส.ส. ได้ 500 คน คิดเป็น 67% และในส่วนของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 10 คน ที่สามารถเลือก ส.ว. ได้ 250 คน หรือคิดเป็น 33% ฉะนั้นหากอ้างอิงตามหลักคณิตศาสตร์จะพบประชาชน 1 คน มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีคิดเป็น 0.000001% น้อยกว่าคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จำนวน 1 คน 2 ล้านเท่า
น.ส.พัชรพร จันทรประดิษฐ์ มิสแกรนด์ไทยแลนด์ 2020 กล่าวว่า การเมืองของคนรุ่นใหม่ควรทำให้เรื่องของการแสดงความเห็นเป็นสิทธิที่ทุกคนพึงมีโดยปราศจากความกลัว ไม่ใช่เมื่อมีการแสดงความคิดเห็นแล้วถูกฝ่ายที่เห็นตรงข้าม แปลงข้อความให้เป็นเรื่องของการสร้างความแตกแยกความเกลียดชัง ถูกกล่าวหาเป็นพวกชังชาติ หรือมีการต่อว่าด่าทอซึ่งกันและกัน เพราะหากประเทศไทยยังไม่สามารถพูดหรือแสดงจุดยืนในเรื่องเหล่านี้ได้ ก็ยังไม่สามารถเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้.-สำนักข่าวไทย