กรุงเทพฯ 12 พ.ย. – BGRIM โชว์กำไรไตรมาส 3 โต 13% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ พร้อมการเงินแข็งแกร่ง ลูกค้าอุตสาหกรรมกลับสู่ภาวะปกติ
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 1,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 745 ล้านบาท เป็นผลมาจากการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในอัตราถึง 28% จากไตรมาสก่อนหน้า การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ล่าสุดได้รับรางวัล Power Plant Upgrade of the Year-Thailand จากนิตยสาร Asian Power ซึ่งผลักดัน EBITDA Margin สู่ระดับสูงสุดที่ 30.4% ทั้งนี้ BGRIM มีการกู้เงินสกุลต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงในส่วนของรายได้สกุลต่างประเทศ (natural hedge) ทำให้ในช่วงไตรมาส 3/2563 เกิดรายการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยน 310 ล้านบาท เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดีรายการดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีที่ไม่กระทบกระแสเงินสด และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 859 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของบริษัทใหญ่ที่ 501 ล้านบาท
“BGRIM พิสูจน์ความแข็งแกร่งผ่านพ้นทุกวิกฤติมาตลอดระยะเวลามากกว่า 24 ปี ไม่ว่าจะวิกฤติเศรษฐกิจ การระบาดของโควิด-19 หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ทางการเมือง ล่าสุดคว้าสถิติกำไรจากการดำเนินงานใหม่ไตรมาส 3/2563 เติบโต 13% จากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1,245 ล้านบาท โดยเป็นส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 745 ล้านบาท จากการกำลังการผลิตไฟฟ้าต่อเนื่อง การฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติของลูกค้าอุตสาหกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ผลักดัน EBITDA Margin สู่ระดับสูงสุดที่ 30.4% สถานะการเงินแข็งแกร่ง เงินสดในมือกว่า 20,000 ล้านบาท มั่นใจโครงการ SPP ทั้ง 7 ทยอย COD ปี 2565-2566 ตามแผน ตอกย้ำความสำเร็จการเป็นผู้นำด้านพลังงาน” นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปี คาดปริมาณการขายไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปริมาณการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นได้มีการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญต่อเนื่องมาโดยตลอด และกลับสู่ภาวะปกติเดือนกันยายน-ตุลาคม ด้วยปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้าอุตสาหกรรมที่กลับมาอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องมา 2 เดือนแล้ว เป็นการฟื้นตัวจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์และโรงงานผลิตยางรถยนต์ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของความต้องการภายในประเทศ รวมถึงจากการย้ายคำสั่งผลิตจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเติบโตตลอดช่วง 9 เดือนในปี 2563 ด้วยปริมาณขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16% และ 12% ตามลำดับ นอกจากนี้ แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติยังเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม โดยไตรมาสสุดท้ายของปีตามประมาณการของ ปตท.คาดจะมีราคาลดลงอีกประมาณ 6-7% จากไตรมาส 3/2563
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ray Power ในประเทศกัมพูชา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 39 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้าตามแผน มีกำหนดการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในไตรมาส 4/2563 ถึงไตรมาส 1/2564 นอกจากนี้ ยังเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 7 โครงการ กำลังการผลิตรวม 980 เมกะวัตต์ มีกำหนดการ COD ในปี 2565-2566 ตามแผนที่วางไว้ มั่นใจเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ตั้งเป้าการมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญาการซื้อไฟฟ้าที่ 7.2 กิกะวัตต์ ภายในปี 2568.-สำนักข่าวไทย