กระบี่ 2 พ.ย.-รมว.อุดมศึกษาฯ ยกคณะเยือนมหา’ลัยแพะ ยกเป็นต้นแบบสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนท้องถิ่น สร้างงาน สร้างเงินให้คนกระบี่ เตรียมถอดความสำเร็จขยายผลสู่พื้นที่อื่น
ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมหา’ลัยแพะนานาชาติ กระบี่ ณ ศรีผ่องฟาร์ม ต.กระบี่น้อย อ.เมือง จ.กระบี่ พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการดำเนินงานของมหา’ลัย ที่เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงแพะ และโครงการความร่วมมือในการนำผลงานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จาก แพะใน จ.กระบี่
ดร.เอนก กล่าวว่า มหา’ลัยแพะ เป็นมหาวิทยาลัยของภาคประชาชนที่เกิดจากความพยายามของคนในพื้นที่ ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ สอดคล้องกับโครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ อว. เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัด เชื่อถ้าทุกจังหวัดทำมหาวิทยาลัยแบบนี้ จะทำให้โครงการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันสำเร็จได้ โดย อว. ยินดีจะช่วยสนับสนุนมหา’ลัยแพะอย่างเต็มที่ ในลักษณะกองหนุนเพื่อให้ชุมชนได้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน และทำให้คนในพื้นที่รู้สึกมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของเพื่อให้การขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งหลังจากนี้ อว.จะไปถอดบทเรียนความสำเร็จของมหา’ลัยแพะ และจะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป
น.สพ.ธีระวิทย์ จันทร์ทิพย์ อธิการบดีมหา’ลัยแพะนานาชาติ กระบี่ กล่าวว่ามหา’ลัยแพะ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อก่อตั้งเป็นสถาบันในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะและวิสาหกิจชุมชน ในการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์กระบี่เมืองแพะ โดยเกษตรกรที่เข้ารับอบรมตามหลักสูตรจะรับความรู้สามารถนำไปพัฒนาแผนธุรกิจฟาร์มเพื่อใช้ดำเนินกิจการได้จริง นอกจากนี้หลังฝึกอบรมแล้ว มหา’ลัย จะยังคงดูแลต่อ โดยร่วมกับสถาบันการเงิน เพื่อให้เกษตรกรเข้าระบบห่วงโซ่การผลิตแพะ
น.สพ.ธีระวิทย์ กล่าวว่า มหา’ลัยแพะ ได้เปิดฝึกอบรบทุกเดือน เดือนละประมาณ 8 รุ่น รุ่นละ70-80 คน ซึ่งมีหลากหลายหลักสูตร แต่เบื้องต้นจะเน้นไปที่หลักสูตรการเลี้ยงแพะผสมผสานปาล์ม และสวนยางพารา โดยเกษตรกรที่เข้าอบรมพบบางรายสามารถดำเนินกิจการเลี้ยงแพะเป็นอาชีพได้อย่างมั่นคง และบางรายสร้างมารถสร้างรายได้ได้สูงสุดถึงหลักแสนบาทต่อเดือน ทั้งนี้ในระยะเวลา 3 ปี มีเป้าหมายจะรวบรวมเกษตรกรในกระบี่เข้ารับการอบรบให้ได้ 10,000 ราย และจังหวัดใกล้เคียงอีก 10,000 ราย
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่าในส่วนของ วช. ได้นำเสนอนิทรรศการโครงการยกระดับการขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้ ด้วยการจัดโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมการเลี้ยงและผลิตน้ำนม อาหารผสม สำหรับแพะเนื้อ และแพะนม การแปรรูปน้ำนมและนวัตกรรม เพื่อประสิทธิภาพการเลี้ยงแพะ โดยมีงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ภายใต้แผนงานวิจัยและพัฒนาขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะของภาคใต้.-สำนักข่าวไทย