29 ต.ค. – นักศึกษาร้องกระทรวง อว. ลงเรียนหลักสูตรซ่อมเครื่องบินจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หวังได้ใบเซอร์จากยุโรป สูญเงินค่าเรียนนับล้าน แต่กลับไม่ตรงปก ด้านมหาวิทยาลัย แจงปัจจุบันไม่มีหลักสูตรนี้แล้ว ยันใบเซอร์ได้ถูกต้อง
น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นตัวแทนรับหนังสือร้องเรียนจาก รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด ในฐานะเลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) พร้อมด้วยตัวแทนผู้เสียหาย 3 คน จากโครงการหลักสูตรนายช่างซ่อมเครื่องบิน
รศ.ดร.วีรชัย กล่าวว่า มาขอความเป็นธรรมกับกระทรวง อว.กรณีที่มีการโฆษณาเกินจริงของหลักสูตรนายช่างซ่อมเครื่องบินของมหาวิทยาลัยราชมงคลแห่งหนึ่ง ผู้เสียหายมีกว่า 20 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท โดยมหาวิทยาลัยโฆษณาผ่านสื่อประชาสัมพันธ์หลายช่องทางระบุว่า เปิดรับนักเรียนมาแล้วจำนวนหลายรุ่น เมื่อจบหลักสูตรจะได้ใบรับรองมาตรฐานยุโรป (European Union Aviation Safety Agency) หรือเอียซ่า ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางการบินของสหภาพยุโรป โดยนักเรียนเสียค่าเล่าเรียนรายละ 500,000 บาท ไม่รวมค่าจิปาถะอื่นซึ่งผู้เสียหายอ้างว่าจ่ายเพิ่มเติมอีกเกือบ 500,000 บาท
หนึ่งในผู้เสียหายเล่าว่า หลงเชื่อเข้าไปเรียนตามคำโฆษณาที่บอกจะได้ใบประกาศจากเอียซ่า ยังมีในอินเทอร์เน็ตอยู่ และในระหว่างเรียน ก็มักจะบอกคนเรียนว่าจบไปมีงานดีๆ แน่นอน แต่เมื่อเรียนจบหลักสูตรกลับแล้ว กลับไม่ได้ใบรับรองจากสถาบันที่อ้างจริง แต่กลับเป็นใบประกาศนียบัตรจากบริษัทฝึกอบรมที่เป็นแฟรนไชส์รับจ้างฝึกอบรมธรรมดา ไม่สามารถนำไปสมัครงานตามคำโฆษณาที่บอกว่าจะได้เงินเดือนหลักแสนได้ ขณะที่ผู้เสียหายอีกคนเล่าว่า มีความฝันอยากทำงานด้านนี้ พอจบ ม.6 ครอบครัวก็ไปกู้ยืมเงินมาให้ หวังจบมามีอนาคตที่ดี แต่ระหว่างเรียนก็พบว่าการสอนไม่ตรงตามที่โฆษณา ภาษาอังกฤษอาจารย์ที่สอนก็ไม่ดีทุกคน อุปกรณ์เรียนการสอนก็เก่า รู้สึกผิดหวังมาก หลังยื่นหนังสือ รศ.ดร.วีรชัย และผู้เสียหาย ยังนำชุดทนไฟเป็นตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายระหว่างเรียนเพิ่มมาโชว์ด้วย
ด้าน น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. เปิดเผยว่า อว.ได้เชิญอธิการบดีของมหาวิทยาลัยดังกล่าวให้ชี้แจงถามข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งจากที่ฟังวันนี้ด้วยก็พบว่ามีรายละเอียดบางส่วนไม่ตรงกับที่ผู้เสียหายมาร้องเรียน โดยทางมหาวิทยาลัยแจ้งว่า เปิดหลักสูตรนี้เมื่อปี 59 และไม่มีการสอนแล้วตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นมาเปิดหลักสูตรแบบ Non Degree มีใบเซอร์ถูกต้องจากเยอรมัน อว.จึงขอเวลาไปตรวจสอบประเด็นเอียซ่าด้วย เพราะยังมีข้อมูลบางส่วนที่ไม่ตรงกัน และมหาวิทยาลัยยังแจงอีกว่านักศึกษาที่จบไปจากหลักสูตรนี้ก็ไปได้งาน 40% แต่ข้อมูลจากผู้เสียหายพบว่า เป็นการได้งานจากการที่มีวุฒิวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง และมีการทำ MOU กับสายการบิน ซึ่งข้อเท็จจริงตรวจสอบไม่ยาก จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ ตรวจสอบ ส่วนอีกเรื่องที่ผู้เสียหายบอกต้องการค่าเล่าเรียนคืน เพราะเสียโอกาสชีวิตไปนั้น มหาวิทยาลัยรับปากจะไปดูว่าจะช่วยเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร
รศ.ดร.วีรชัย ยังระบุว่ากลุ่มตัวแทนผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกงไว้แล้ว และจะไปที่ตำรวจสอบสวนกลางเพื่อขอให้ช่วยดำเนินคดีในเรื่องความเสียหายต่อราชการและการทำหลักสูตรก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนต่อไป.-สำนักข่าวไทย