ภูเก็ต 2 พ.ย. – ก.พลังงานกำหนดกรอบวงเงินกองทุนอนุรักษ์ 6.5 พันล้านบาท เน้นจ้างงาน อนุรักษ์พลังงาน พร้อมร่วมลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดภูเก็ต ย้ำส่งเสริมผลิตไฟฟ้าจากขยะ 400 เมกะวัตต์
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่ตรวจราชการ จังหวัดภูเก็ต เยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าของศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยจังหวัดภูเก็ต เทศบาลนครภูเก็ต พร้อมย้ำว่ากระทรวงพลังงานสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากขยะ กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะถึง 400 เมกะวัตต์ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP2018 rev.1) โดยเตรียมการออกมาตรการรับซื้อไฟฟ้า Feed-in Tariff ภายในปี 2564 เพื่อให้สามารถรับซื้อได้ภายในปี 2565 ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังจะช่วยในเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีปัญหาเรื่องการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม
สำหรับการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของภูเก็ตในปีงบประมาณ 2563 มีขยะมูลฝอยเข้าสู่ศูนย์กำจัดขยะฯ เฉลี่ย 833 ตัน/วัน ลดลงร้อยละ 13.5 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นผลจากปริมาณนักท่องเที่ยวลดลงจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้ประชากรแฝง หรือผู้มาทำงานอยู่อาศัยลดลง จ.ภูเก็ตมีโรงเตาเผาขยะมูลฝอย 2 โรง ได้แก่ 1.โรงเตาเผาขยะมูลฝอยชุมชน 1 เป็นเตาเผาที่กรมโยธาธิการและผังเมืองถ่ายโอนให้เทศบาลนครภูเก็ตดูแล งบประมาณ 788 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 2.5 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 144 หน่วย/ตันขยะ ปัจจุบันหยุดการดำเนินการอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติให้เอกชนร่วมดำเนินการ และ 2.เป็นเตาเผาที่บริษัท พีเจทีเทคโนโลยี เป็นผู้รับสัญญาดำเนินการตั้งแต่ปี 2555 งบประมาณ 994 ล้านบาท กำลังผลิตไฟฟ้าสูงสุด 12 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้า 350 หน่วย/ตันขยะ
ด้านนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2563 เห็นชอบกรอบการใช้เงินกองทุนฯ งบประมาณ 2564 วงเงิน 6,500 ล้าน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก สนับสนุนการสร้างงานและสร้างรายได้ รวมถึงให้ความสำคัญในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น กลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย การสร้างงานวิจัย สร้างนวัตกรรมใหม่ และการสร้างบุคลากร หลังจากนี้จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ภายในเดือนพฤศจิกายนแล้ว คาดว่าจะสามารถประกาศยุทธศาสตร์การจัดสรรฯ และประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการได้ประมาณเดือนธันวาคม 2563
สำหรับกรอบวงเงินสนับสนุนแบ่งเป็น 7 กลุ่มงานย่อย ได้แก่ กลุ่มงานตามกฎหมาย 200 ล้านบาท, กลุ่มงานสนับสนุนนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน 500 ล้านบาท, กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย นวัตกรรม และสาธิตต้นแบบ วงเงินสนับสนุน 355 ล้านบาท, กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร วงเงินสนับสนุน 200 ล้านบาท, กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร 450 ล้านบาท, กลุ่มงานส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ 2,200 ล้านบาท และกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก 2,400 ล้านบาท ส่วนแผนบริหารจัดการโดยสำนักงานกองทุนฯ อยู่ที่ 195 ล้านบาท. -สำนักข่าวไทย