ทำเนียบฯ 28 ต.ค.-นายกฯ ยืนยันเดินหน้าทำงานแก้ไขปัญหาวิกฤตประเทศ เชื่อมีทางออก แต่ทุกคนต้องช่วยกันหาหนทางที่ดีที่สุด พร้อมตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์จากทุกฝ่าย ย้ำหนุนแก้ รธน. ฝากเอ็นจีโอ อาศัยในประเทศไทย ต้องช่วยกันพัฒนาประเทศ
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการประชุมรัฐสภา ที่มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกของประเทศว่า ได้ย้ำผ่านกับสื่อมวลชนไปหลายครั้งและในการประชุมรัฐสภาเมื่อคืนที่ผ่านมาว่า ตนมีความจำเป็นที่จะต้องนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตต่อไปได้ในทุก ๆ เรื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาขณะนี้ที่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คงไม่ใช่เรื่องของตนเองเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องร่วมมือและหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน ในฐานะที่ทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ให้เป็นไปอย่างประนีประนอม และสันติวิธี ซึ่งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด และตนไม่ได้เกลียดชังใครทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าใครจะว่าร้ายอย่างไร แต่ตนก็สามารถรับฟังได้ เพราะจะต้องมีความอดทนในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และไม่โมโห ต้องไม่โกรธง่าย ต้องพูดจาไพเราะ ซึ่งวันนี้คิดว่าก็พูดเพราะกว่าหลายคน ที่ได้ยินมาในขณะนี้
นายกรัฐมนตตรี กล่าวว่า ทางออกของสถานการณ์นั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้เจอทางออกนั้น เพราะคงไม่มีปัญหาใดที่แก้ไม่ได้ ขอให้เชื่อมั่นและมั่นใจว่า เราจะต้องช่วยกันเลือกหนทาง ที่ดีที่สุดให้กับประเทศ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของตนเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องคิดร่วมกัน
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การประชุมตลอด 2 วัน ที่ผ่านมา ต้องขอบคุณประธานรัฐสภา และสมาชิกทุกคน ที่มีการอภิปรายหารือกันด้วยความสงบเรียบร้อย แม้จะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นก็ตาม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในสภาของไทยและถือเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม สภาของไทย ไม่ควรเป็นเหมือนสภาในต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งที่สรุปได้จากการประชุมรัฐสภา ตลอด 2 วันที่ผ่านมานั้น มีหลายอย่างที่ตนเห็นด้วย โดยเรื่องที่สำคัญที่ตนสนับสนุนคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของรัฐสภา ที่ต้องผ่านหลายกระบวนการตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ยังคงบังคับใช้อยู่ จนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงยังไม่สามารถตั้งกฎกติกาใหม่ได้ในทันทีตามที่บางฝ่ายต้องการได้
ในส่วนที่จะกำหนดให้ ส.ว.มีหน้าที่เลือกหรือไม่เลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ตนไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้ หากจะไม่เลือกตนก็ไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องหารือกันในรัฐสภาต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นมาเพื่อศึกษาหาทางออกในแนวทางของรัฐสภา ซึ่งทางรัฐสภาน่าจะเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการ ที่มาจากหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของรัฐสภา ทั้ง ส.ส. ส.ว. รวมทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยและเห็นต่าง โดยขอให้เป็นการหารือโดยสงบ สามารถมีข้อยุติได้ ซึ่งจะต้องเป็นลักษณะของการมองถึงบริบทของประเทศไทย ส่วนที่มีคำถามว่าคณะกรรมการชุดนี้จะถูกครอบงำหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะพูดเช่นนี้คงไม่ได้ เพราะต้องให้เกียรติทางสภาฯ และ ส.ส. รวมถึง ส.ว.ที่เสนอขึ้นมา ทั้งนี้ทุกคนต้องให้ความเคารพและเชื่อใจซึ่งกันและกัน ไม่ตั้งธงไว้ล่วงหน้า
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีท่าทีของต่างประเทศที่ให้ NGO ที่เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในแต่ละประเทศ เดินทางออกจากประเทศ ว่า ตนไม่ขอแสดงความเห็น เพราะถือเป็นเรื่องของแต่ละประเทศ ที่มีกฎหมายเป็นของตัวเอง ในส่วนของไทยจะต้องประเมินว่า มีกิจกรรมใดบ้างที่มีปัญหาอยู่ ซึ่งจะต้องมีการพุดคุยหารือว่า ต้องไม่มีนัยยะใด ๆ แอบแฝง ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกันไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศ และไทยยังมีปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่บางครั้ง เอ็นจีโอเข้ามาทำให้กระบวนการต่าง ๆ ช้าลง เช่นเรื่องการทำประชาพิจารณ์ หรือการทำประชามติ ที่อาจมีคนภายนอกเข้ามาแสดงความเห็น หรือต่อต้าน ในขณะที่คนในพื้นที่ไม่ได้ประโยชน์และได้รับความเสียหาย เหล่านี้จะต้องมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม วันนี้จึงต้องฝากไปยังเอ็นจีโอที่อยู่ในประเทศไทย ว่าเมื่อทำงานหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทย ก็ต้องช่วยประเทศไทยในการพัฒนาชาติบ้านเมือง เช่นเดียวกับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ต้องเสียภาษีและกลายเป็นพลเมืองของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ก็ต้องเคารพกฎหมายของที่นั้น ๆ
ต่อข้อถามว่านายกรัฐมนตรี จะอยู่ครบวาระ 4 ปี โดยไม่ต้องรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ทราบ และต้องพิจารณาว่าตนเองเข้ามาด้วยอะไร และจะออกจากตำแหน่งอย่างไร และไม่อยากให้กรณีนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไปในอนาคต เพราะรัฐบาลคงไม่ได้หยุดเพียงรัฐบาลนี้เท่านั้น เพราะกระบวนการเลือกตั้งและกระบวนการต่างๆ นั้นมีตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า รู้สึกสบายใจขึ้นหรือไม่ หลังรับฟังการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาตลอด 2 วัน โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รู้สึกสบายใจ แต่ไม่สบายกาย เนื่องจากเจ็บหู.-สำนักข่าวไทย