กรุงเทพฯ 26 ต.ค. – ปตท.เร่งตรวจสอบสาเหตุท่อก๊าซระเบิดที่ จ.สมุทรปราการ “อรรถพล” ย้ำให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหมือนญาติพี่น้อง ด้าน กกพ.เตรียมออกเกณฑ์ควบคุมหลังชุมชนคืบใกล้แนวท่อ KTZ คาดหุ้น PTT อาจมีแรงกดดันเชิงลบระยะสั้น จนกว่าจะทราบสาเหตุแท้จริงของเหตุระเบิด
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/10/1019934-1024x682.jpg)
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สำนักงาน กกพ.ได้ติดตามเหตุท่อก๊าซธรรมชาติรั่วและเกิดระเบิดที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ โดยสาเหตุของการรั่วนั้นต้องรอผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ซึ่ง บมจ.ปตท.ได้ส่งชิ้นส่วนท่อก๊าซที่ฉีกขาดไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกำลังพิจารณาว่าจะต้องจะออกกฎระเบียบกฎเกณฑ์เพิ่มเติมอย่างไร เพราะต้องยอมรับว่าท่อก๊าซของไทยใช้ยาวนานมาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่ประเทศไทยพบก๊าซธรรมชาติเริ่มใช้ปี 2524 ท่อก๊าซหลักบนบกความยาวประมาณ 2,641 กิโลเมตร เส้นที่เกิดอุบัติเหตุเป็นเส้นที่ 2 ใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539 โดยสภาพแวดล้อมใกล้ท่อก๊าซฯ แต่ละเส้นเปลี่ยนแปลงไปมาก จากอดีตมีชุมชน มีถนน เกิดใกล้แนวท่อก๊าซฯ มากขึ้น ซึ่งก็ต้องวางหลักเกณฑ์ กำหนดความปลอดภัยเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคต
“สภาพแวดล้อมในพื้นที่ท่อก๊าซพาดผ่านเปลี่ยนไปจากอดีตมากแต่ละพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ท่อก๊าซ ปตท. มีมาตรฐานดูแลที่สูงเป็นมาตรฐานโลกมีการเตือนเรื่องบุคคลภายนอกเข้าไปใช้พื้นที่ใกล้เคียงต้องแจ้งขออนุญาต แต่ที่ผ่านมาก็มีอุบัติเหตุ จากการไม่ระมัดระวังของบุคคลภายนอก ประกอบกับสภาพแวดล้อม เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ดังนั้น สำนักงาน กกพ.ก็ต้องมาดูว่าจะออกระเบียบอะไร เข้ามาดูแลเพิ่มเติม ส่วนสาเหตุอุบัติภัยที่ อ.บางบ่อครั้งนี้ ต้องรอผู้เชี่ยวชาญสรุปสาเหตุ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการพลังงานของไทยนั้นมีการวางแผนที่พร้อม มีท่อก๊าซฯ หลายเส้นเป็น LOOP ต่อเชื่อมกัน เช่นเดียวกับสายไฟฟ้า ดังนั้น เมื่อเกิดอุบัติภัยก็กระทบผู้ใช้ก๊าซฯ เพียงช่วงแรกเล็กน้อยเท่านั้น และสามารถบริหารจัดการส่งก๊าซฯ สับสายส่งไฟฟ้าทดแทนรวดเร็ว ไม่กระทบผู้บริโภค” นายคมกฤช กล่าว
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2020/10/ปตท.2610-1024x683.jpg)
ด้าน บมจ.ปตท.วันนี้มีประชุมผู้บริหาร โดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กำชับให้ดูแลผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็ว ดูแลผู้ได้รับผลกระทบเหมือนญาติพี่น้อง และขออนุมัติกรอบเงินเยียวยามาจ่ายแก่ผู้ประสบภัยตามที่ประกาศไว้ เช่น จ่ายครอบครัวผู้เสียชีวิต 5 ล้านบาท เป็นต้น พร้อมทั้งส่งเจ้าหน้าที่ในกลุ่มเร่งช่วยเหลือซ่อมแซมผู้ได้รับผลกระทบ หลังเกิดเหตุซีอีโอ ปตท.ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าจากการประเมินความเสียหายบื้องต้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ ปตท.แต่อย่างใด มีเพียงผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าชธรรมชาติน้อยมาก ซึ่ง ปตท.สามารถบริหารการจัดหาและขนส่งก๊าชธรรมชาติทดแทนให้แก่ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติบริวณดังกล่าว รวมทั้ง ปตท.ได้ทำประกันคุ้มครองความเสี่ยงของทรัพย์สินหลักที่ใช้ในการดำนินธุรกิตามาตรฐานสากลมีความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สิน ธุรกิจหยุดชะงัก และความรับผิดตามกฎหมายของ ปตท.ต่อบุคคลกายนอก โดยเหตุการณ์นี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้บาดเจ็บ 66 ราย และสร้างความเสียหายให้กับที่พักอาศัยและยานพาหนะที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
“ความสูญเสียที่มิอาจตีราคาเป็นตัวเงินได้ สิ่งที่ ปตท.ต้องทำวันนี้ คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุก ๆ ด้าน ทั้งร่างกายและจิตใจ รวมทั้งสภาพความเป็นอยู่ให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกปลอดภัยและกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด ขอให้พวกเราคิดว่าผู้ประสบเหตุเป็นเสมือนญาติพี่น้องที่เราต้องดูแลอย่างดีที่สุด จากเดิมวางแผนจะช่วยเหลืออย่างไร จะต้องทำให้ดีมากขึ้นเป็นทวีคูณ” นายอรรถพล สื่อความกับพนักงาน กลุ่ม ปตท.
ทั้งนี้ จากค้นพบก๊าซธรรมชาติที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณเป็นแหล่งแรก ปตท.ได้ดำเนินการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลจากแหล่งผลิตมาขึ้นฝั่งที่บ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง โดยเริ่มนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ตั้งแต่ปี 2524 ปัจจุบันระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติมีความยาวประมาณ 4,774 กิโลเมตร ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ความยาวประมาณ 2,641 กิโลเมตร และท่อในทะเล ความยาวประมาณ 2,133 กิโลเมตร (ข้อมูล ณ มกราคม 2563) โดยระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะเชื่อมต่อแหล่งก๊าซธรรมชาติต่าง ๆ ในอ่าวไทย และท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากแหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้ากับผู้ผลิตไฟฟ้า โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และลูกค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดจะอยู่ภายใต้การบำรุงรักษา โดยศูนย์ปฏิบัติการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ที่โครงการดำเนินการก่อสร้างเสร็จ ทั้งนี้ โดยปกติแนวท่อส่งก๊าซจะมีความกว้างประมาณ 12-23 เมตร ความลึกมาตรฐานขั้นต่ำ 1-1.5 เมตร มีการเคลือบผิวท่อเพื่อป้องกันการผุกร่อน และมีการเคลือบท่อเพื่อป้องกันสนิมและการผุกร่อนบนรอยเชื่อมทุกครั้ง และเนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่บรรจุอยู่ในท่ออาจก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้น หลังการฝังกลบท่อจะติดตั้งป้ายเครื่องหมายแสดงแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ของ ปตท. ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้าน บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ( KTZ ) วิเคราะห์ ว่า แม้ว่าเหตุการณ์ท่อก๊าซฯ PTT ระเบิดที่บริเวณอำเภอบางบ่อ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและคาดการณ์ผลการดำเนินงาน ปตท. แต่คาดราคาหุ้นอาจมีแรงกดดันเชิงลบระยะสั้น จนกว่าจะทราบสาเหตุแท้จริงของเหตุระเบิดดังกล่าว เพราะความกังวลของตลาดฯ ต่อมาตรฐานด้านความปลอดภัยของท่อส่งก๊าซฯ ใต้ดินของบริษัทว่าปฏิบัติตามมาตรฐานสากลหรือไม่ โดยบริษัทคาดจะสามารถซ่อมท่อก๊าซฯ ที่ได้รับความเสียหายได้ภายใน 5 วัน ขณะที่ผลกระทบต่อผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติน้อยมาก โดย PTT สามารถบริหารจัดหาและขนส่งก๊าซฯ ทดแทนให้แก่ผู้ใช้ก๊าซฯ บริเวณดังกล่าวได้ โดยเหลือเพียงสถานีบริการ NGV ของ PTT เพียงสถานีเดียวที่ได้รับผลกระทบ (ซึ่งความต้องการใช้ก๊าซฯ รายวันของสถานีดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 0.01% ของปริมาณการขายก๊าซฯ โดยรวมของ PTT) ขณะที่มีประกันภัยครอบคลุมความเสียหายต่อทรัพย์สินและความเสียหายต่อบุคคลที่3 โดย PTT มีประกันภัยคุ้มครองความเสี่ยงของทรัพย์สินหลักที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมความเสียหายต่อทรัพย์สิน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (บริษัทรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนแรก 2.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) การหยุดชะงักของธุรกิจ และความเสียหายต่อบุคคลที่ 3 จำนวน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.-สำนักข่าวไทย