รัฐสภา 26 ต.ค.-“ไพบูลย์” ติงผู้ชุมนุมจาบจ้วง-หยาบคาย หนุนนายกฯ อยู่ต่อ อย่าลาออก เสนอทำประชามติเห็นด้วยชุมนุมหรือไม่ ด้านประธานสภาฯ สั่งเบรคหลังพูดนอกญัตติหลายครั้ง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อภิปรายในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2563 มาจนเกิดเหตุการผู้ชมนุมขวางทางขบวนเสด็จ ชี้ว่าเป็นการมุ่งร้ายและเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และยังมีการเรียกร้อง 3 ข้อ คือการแก้รัฐธรรมนูญ ยุบสภาฯ และการปฏิรูปสถาบัน เชื่อว่าผู้ชุมนุมมีเป้าหมาย คือ การปฏิรูปสถาบันเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการลดสถานะของสถาบัน และอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบบการปกครองของไทยให้เป็นการปกครองระบอบสาธารณรัฐ และแม้มีข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุมให้ลาออก ตนขอเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกมนตรี อยู่ในตำแหน่งเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์เพื่อแก้วิกฤติเศรษฐกิจ และอย่าลาออก ให้คำนึงถึงเสียงประชาชน 8,400,000 คนที่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
“ที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพราะเป็นบุคคลที่เป็นเลิศด้านความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุด เป็นผู้ที่เข้มแข็งและมีความสามารถในการปกป้อง พิทักษ์และรักษาไว้ซึ่งสถาบัน อย่างไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้” นายไพบูลย์ กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมจะนำไปสู่การปฏิรูปสถาบันที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ และหากมีพรรคการเมือง นักการเมือง ร่วมชุมนุมการปฏิรูปสถาบัน อาจเข้าข่ายถูกดำเนินคดีอาญาและนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองนั้นด้วย พร้อมกันนี้ขอประณามว่ามีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ในการแย่งชิงอำนาจรัฐ บั่นทอนความมั่นคงของชาติและสถาบัน จึงเสนอให้ทำประชามติต่อการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ด้วยการตรา พ.ร.ก.การออกเสียงประชามติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 173 โดยมั่นใจว่าหากมีการออกเสียงประชาชมติ จะมีเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่มีการจาบจ้วงสถาบัน และเรียกร้องให้ประชาชนทั่วประเทศปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 50 ในการปกป้องพิทักษ์ชาติ ศาสนา และสถาบันพระมหากษัติรย์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการอภิรายฯ ประธานรัฐสภาย้ำเตือนให้นายไพบูลย์อภิปรายใช้ถ้อยคำในญัตติเท่านั้น ขอให้อภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อลดบรรยากาศความตรึงเครียดทางการเมือง และย้ำว่าข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภาข้อ 45 วรรค 2 ห้ามผู้อภิปรายแสดงกริยา หรือวาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือเสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาโดยไม่จำเป็น.-สำนักข่าวไทย