ทำเนียบฯ 20 ต.ค.- “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ระบุเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการของรัฐ ที่ช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย
ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในที่ประชุมครม.นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รายงานการประมาณการภาวะเศรษฐกิจไทย ที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 ให้ดีขึ้นเป็น -7.1% จากเดิมที่คาด -7.7% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อย
ทั้งนี้ แนวโน้มการปรับตัวเลขเศรษฐกิจนั้น ทั้ง IMF และธนาคารโลก ได้ปรับตัวเลขให้ภูมิภาคเอเชียฟื้นตัวเร็วกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ประกอบกับจะเห็นได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นหลายตัว มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 นี้ และคาดว่าจะต่อเนื่องไปไตรมาส 4
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ส่วนการให้ความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องทางการเงินที่ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่นั้น มาตรการภายใต้ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) วงเงิน 5 แสนล้านบาท ของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะไม่ต่ออายุจากที่จะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 22 ต.ค.นี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยเองไม่ได้นิ่งเฉย โดยได้ประสานกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้มีมาตรการต่อเนื่องในการช่วยเหลือลูกค้าของธนาคาร ซึ่งได้จัดกลุ่มลูกค้าไว้ 4 กลุ่ม แบ่งเป็น กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ กลุ่มลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจได้ แต่ยังไม่ฟื้นตัวดี กลุ่มลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ และลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน
นายอาคม กล่าวว่า ในขณะที่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐเอง ซึ่งนอกจากที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ลูกค้าของธนาคารตามมาตรการซอฟท์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว ยังมีมาตรการเฉพาะของแต่ละธนาคารเองที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือลูกค้าด้วย ซึ่งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็ยังดูแลลูกค้าต่อเนื่อง ลูกหนี้ที่อยู่กับแบงก์รัฐมี 4 ล้านรายที่จะเข้าไปช่วยเหลือ จากทั้งหมด 12 ล้านรายที่เป็นเอสเอ็มอี ส่วนสินเชื่อที่ได้เข้าไปช่วยเหลือ ในส่วนของแบงก์รัฐอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท จากทั้งหมด 5.5 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังได้ปล่อยสินเชื่อจากซอฟท์โลนให้แก่นอลแบงก์ เช่น ลิซซิ่ง เช่าซื้อรถที่มีอยู่อีกจำนวนหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการเสริมสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ หรือชะลอการชำระหนี้นั้น กระทรวงการคลังยังให้การดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหน้าที่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ในการเป็นเครื่องมือช่วยให้สภาพคล่องในระบบธุรกิจสามารถเดินต่อได้ ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการประสานงานกับธนาคารต่างๆ ซึ่งจะได้เห็นความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ หรือไม่เกินต้นสัปดาห์หน้า.-สำนักข่าวไทย