กรุงเทพฯ 20 ต.ค.-สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดผลสำรวจ พบสถิติการใช้ความรุนแรงในเด็ก อัตราท้องในวัยรุ่น มีแนวโน้มลดลง ขณะที่พบเด็กไทยเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยม กว่าร้อยละ 82 หวังภาครัฐเร่งแกปัญหา
สำนักงานสถิติแห่งชาติ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ เปิดผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยล่าสุด พบมีความก้าวหน้าหลายด้าน เช่น อัตราการมีบุตรของวัยรุ่นและการลงโทษเด็กด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านมีแนวโน้มลดลง แต่ที่น่ากังวล คือ โภชนาการของเด็ก และการไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา เพิ่มขึ้น
น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน เปิดงานสัมมนาผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2562 ซึ่งการสำรวจจัดทำขึ้นทุก3 ปี โดยครั้งนี้เป็นครั้งที่6 ในระดับนานาชาติ และนับเป็นครั้งที่4 ของประเทศไทย มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรีในด้านต่างๆเช่น สุขภาพ พัฒนาการ การศึกษา และการคุ้มครองเด็ก จากครัวเรือน 40,660 ครัวเรือนทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ค.-พ.ย. 62 ถือเป็นการสำรวจระดับประเทศที่ครอบคลุมกลถ่มตัวอย่างประชากรเด็กและสตรีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ด้าน น.ส.วันเพ็ญ พูลวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ผลสำรวจครั้งนี้ พบว่าอัตราการมีบุตรของวัยรุ่นในประเทศไทยลดลงอย่างมาก จาก 51 คนต่อ 1,000 คนในปี 2558 เหลือเพียง 23 คนต่อ 1,000 คนในปี2562 ขณะที่อัตราของเด็กอายุ1-14 ปี ที่เคยถูกลงโทษด้วยวิธีรุนแรงที่บ้านก็ลดลง เช่นกัน จากร้อยละ 75 ใน ปี2558 เหลือร้อยละ 58 ในปี 2562 นอกจากนี้ มีความก้าวหน้าด้าน การได้รับภูมิคุ้มกันครบถ้วนของเด็ก อายุ 12-23 เดือน ร้อยละ82 การบริโภคเกลือเสริมไอโอดีน ร้อยละ 85 และอัตราการเข้าเรียนหลักสูตรปฐมวัย ร้อยละ86
ทั้งนี้จากผลสำรวจสะท้อนแนวโน้มที่น่ากังวลด้านภาวะโภชนาการของเด็กในประเทศไทย โดยพบว่าอัตราของเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี เตี้ย แคระแกร็น ร้อยละ13 และผอมแห้ง ร้อยละ8 มีน้ำหนักเกิน ร้อยละ9 ซึ่งแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนาสมอง สุขภาพในระยะยาว ผลสำรวจครั้งนี้ ยังชี้ให้เห็นว่าแม้นมแม่จะเป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แต่มีทารกอายุไม่เกิน 6 เดือนร้อยละ14 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่อย่างเดียว ลดลงจากปี 2558 ถึงร้อยละ28 โดยเป็นกลุ่มเด็กที่ครัวเรือนยากจน เด็กที่แม่ขาดการศึกษา หัวหน้าครัวเรือนไม่ได้พูดภาษาไทย
นอกจากนี้ผลสำรวจสะท้อนความไม่เท่าเทียมด้านการศึกษา พบว่า เด็กเกือบทุกคนเข้าเรียนและจบชั้นประถมศึกษา แต่อัตราเข้าเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย ลดลงชัดเจนในกลุ่มยากจน ร้อยละ82 และ 53 ตามลำดับ และภาคใต้มีอัตราเข้าเรียนในระดับมัธยมตอนต้นและปลายต่ำกว่าภาคอื่น ร้อยละ77 และ56 ตามลำดับ
น.ส.วันเพ็ญ กล่าวว่า ผลสำรวจนี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่กระทบความเป็นอยู่ของเด็ก จากผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานภาครัฐ ให้เด็กและสตรีทุกคนในประเทศไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ เป็นสิ่งตอกย้ำปัญหาหลายด้านที่ยังคงคุกคามพัฒนาการเด็กในประเทศไทยมาตลอดหลายปี เช่น ภาวะโภชนาการ การไม่ได้เรียนต่อระดับมัธยม มีเด็กกว่า 3 ล้านคนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ ปัญหาเหล่านีเหากไม่ได้รับการแก้ไข จะยิ่งคุกคามศักยภาพของเด็กๆซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศ .-สำนักข่าวไทย