กรุงเทพฯ 15 ต.ค.- หลังเมื่อวานนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรได้ปักหลักชุมนุมรอบทำเนียบฯ แต่ที่สุดหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ทำให้แกนนำประกาศยุติการชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลในช่วงเช้า พร้อมนัดผู้ชุมนุมไปรวมตัวที่ราชประสงค์ในเวลา 4 โมงเย็น แต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ได้เข้ารวบแกนนำและผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง
โดยก่อนการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ซึ่งมีผล 04.00 น.วันนี้ ช่วงประมาณ 5 ทุ่มกว่าๆ ทาง พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ได้แถลงถึงสถานการณ์การชุมนุมที่มีการปรากฏอย่างชัดเจนว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง ใช้กำลังประทุษร้ายต่อเจ้าพนักงาน เป็นการชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมหลายครั้งแต่ก็ยังกระทำผิดซ้ำๆ โดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย และยังมาชุมนุมในพื้นที่หวงห้าม ยืนยันที่ผ่านมา ตำรวจได้เจรจากับแกนนำมาโดยตลอดเพื่อให้การชุมนุมอยู่ในกรอบกฎหมาย แต่ก็มีการกระทำความผิดต่อเนื่อง จึงประกาศเตือนผู้ชุมนุมให้ยุติการชุมนุมไม่เกินเที่ยงคืน มิเช่นนั้นจะถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องถูกดำเนินคดี
ต่อมา ในเวลา 04.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร มีเนื้อหาระบุว่า โดยที่ปรากฏว่ามีบุคคลหลายกลุ่มได้เชิญชวน ปลุกระดม และดำเนินการให้มีการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยใช้วิธีการและช่องทางต่างๆ ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย และความไม่สงบเรียบร้อยของประชาชน มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐ หรือบุคคล อันมิใช่การชุมนุมโดยสงบที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้งยังกระทบโดยตรงต่อสัมฤทธิผลของมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในภาวะเปราะบาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าวให้มีการยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที เพื่อให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความสงบเรียบร้อยและประโยชน์ส่วนรวม จึงอาศัยอำนาจตามความมาตรา 5 และ 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น. เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ ได้ออกประกาศคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง รวมถึงบังคับบัญชาและสั่งการส่วนราชการ และข้าราชการทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อความสงบเรียบร้อย
นอกจากนั้น ยังมีข้อกำหนดต่างๆ
1.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป
2.ห้ามเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด รวมถึงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีข้อความทำให้เกิดความหวาดกลัว บิดเบือนข่าว เกิดความเข้าใจผิด กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
3.ห้ามใช้เส้นทางคมนาคม หรือยานพาหนะ ฯลฯ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
4.ห้ามใช้ เข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ ฯลฯ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด
- ในการดำเนินการตามข้อ1-4 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนไขและเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด
จากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าประกาศเรื่องการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพ โดยห้ามมีการชุมนุม จึงขอให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและออกจากพื้นที่ทั้งหมด ขณะเดียวกัน มีการเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากระชับพื้นที่
ทางด้าน นายอานนท์ นำภา แกนนำคณะราษฎร ประกาศให้มวลชนออกจากพื้นที่ โดยใช้ถนนนางเลิ้ง พร้อมระบุให้ผู้ชุมนุมไปรวมตัวชุมนุมกันที่แยกราชประสงค์ ในเวลา 4 โมงเย็น วันนี้
และในเวลาประมาณ 05.00 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมแกนนำหลายคน ทั้งทนายอานนท์ นำภา, แพนกวิน และ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก.-สำนักข่าวไทย