สำนักข่าวไทย 8 ต.ค. – หลังจากกรมอุตุฯ พยากรณ์อากาศช่วงวันที่ 7-9 ต.ค.นี้ ไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ส่วนกรุงเทพฯ และปริมณฑล ฝนฟ้าคะนอง 80% ของพื้นที่
พายุ (Storms) คือ สภาพบรรยากาศที่ถูกรบกวนแบบใด ๆ ก็ตาม โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อพื้นผิวโลก และบ่งบอกถึงสภาพอากาศที่รุนแรง เวลากล่าวถึงความรุนแรงของพายุ จะมีปัจจัยสำคัญอยู่บางประการคือ ความเร็วใกล้ศูนย์กลาง ซึ่งอาจสูงถึง 400 กม./ชม. ความเร็วของการเคลื่อนตัว ทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุ และขนาดความกว้างหรือเส้นผ่าศูนย์กลางของตัวพายุ ซึ่งบอกถึงอาณาบริเวณที่จะได้รับความเสียหายว่าครอบคลุมเท่าใด
การเกิดพายุ
พายุ (Storms) เกิดจากแรงดันในอากาศต่ำลงมากกว่าในบริเวณรอบๆ พื้นที่หนึ่ง พร้อมกับมีแรงดันอากาศสูงเกิดขึ้นรอบ ๆ พื้นที่นั้น การรวมของแรงปะทะต่าง ๆ ก่อให้เกิดลม อันส่งผลให้เกิด การเคลื่อนตัวเปลี่ยนรูปของพายุเมฆ
ซึ่งแรงดันอากาศต่ำอาจเกิดจากจุดเล็ก ๆ ที่พื้นที่ใด ๆ อันเกิดจากอากาศร้อนลอยล่องขึ้นจากพื้นดิน ส่งผลให้เกิดการปั่นป่วนน้อย ๆ เช่น การเกิดพายุฝุ่น หรือลมหมุน
พายุมีกี่ประเภท ?พายุสามารถแบ่งออกได้ 3 ประเภท
1.พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm)
เป็นพายุที่เกิดขึ้นได้ในบริเวณที่มีอากาศร้อน และมีความชื้นโดยมากเกิดในเขตร้อนแถบเส้นศูนย์สูตร เมื่ออากาศได้รับความร้อนและลอยตัวสูงขึ้น และมี ไอน้ำในปริมาณมาก พอประกอบกับการลดลงของอุณหภูมิ จึงเกิดการกลั่นตัวควบแน่นของไอน้ำ เกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนอง มักจะมีทั้งลมแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และมีฝนตกหนัก เกิดขึ้นพร้อมกัน
เมื่อเวลาผ่านไปการลดลงของอุณหภูมิภายในก้อนเมฆส่งผลให้เกิดการเคลื่อนที่ของมวลอากาศอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองที่มีทั้งกระแสลมกระโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และมีฝนตกหนัก หรืออาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่ ซึ่งในประเทศไทยมักเกิดพายุฝนฟ้าคะนองเป็นประจำ โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม พายุฝนฟ้าคะนองสามารถพัฒนาจนมีความรุนแรงเกินกว่าระดับปกติในลักษณะที่เรียกว่า “พายุฤดูร้อน” รวมไปถึง “พายุทอร์นาโด” ได้
2.พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
เป็นพายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลและมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร เป็นระบบพายุที่หมุนอย่างรวดเร็ว มีลักษณะได้แก่ ศูนย์กลางความกดอากาศต่ำ การไหลเวียนของบรรยากาศระดับต่ำแบบปิด ลมกระโชกแรง และการจัดเรียงของพายุฟ้าคะนองแบบก้นหอยซึ่งให้เกิดฝนตกหนัก พายุหมุนเขตร้อนที่มีอิทธิพลต่อสภาพอากาศในประเทศไทย มีการแบ่งเกณฑ์ความรุนแรงของพายุตามความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ดังนี้
-ดีเปรสชั่น (Tropical Depression) เป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุด โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเพียงกลุ่มเมฆหมุนวนที่ไม่มีตาพายุที่ชัดเจน ก่อให้เกิดกระแสลมไม่แรงนัก แต่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน
-พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นในทะเลก่อนเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง โดยมีความเร็วลมไม่เกิน 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก่อให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก
-ไต้ฝุ่น (Typhoon) หรือ เฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงกว่า 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีตาพายุชัดเจน ซึ่งบริเวณจุดศูนย์กลางของพายุ หรือ “ตาพายุ” จะมีสภาพอากาศโปร่งใส อาจมีฝนตกเพียงเล็กน้อยและกระแสลมสงบ ต่างกับสภาพรอบนอกของตาพายุ ซึ่งมีความรุนแรงมากถึงขั้นสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง และเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้เลยทีเดียว
โดยปกติแล้ว ในประเทศไทยมักพบเพียงแค่พายุดีเปรสชัน เนื่องจากพายุมักก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งกว่าจะเคลื่อนที่มาถึงเขตพื้นที่ของประเทศไทย พายุดังกล่าวได้อ่อนกำลังลงจนก่อให้เกิดเพียงพายุดีเปรสชันเท่านั้น นอกจากนี้ พายุหมุนเขตร้อนมักจะถูกเรียกขานตามภาษาถิ่นของพื้นที่ที่พายุเหล่านั้นก่อตัวขึ้น เช่น พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแอตแลนติกจะถูกเรียกว่า “เฮอร์ริเคน” ขณะที่พายุหมุนเขตร้อนที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกจะถูกเรียกว่า “ไต้ฝุ่น”
3.พายุทอร์นาโด (Tornado)
หรือพายุงวงช้างเป็นพายุที่เกิดจากการหมุนของอากาศ สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายลักษณะ โดยลักษณะที่พบได้บ่อยที่สุดคือลักษณะรูปทรงกรวย โดยส่วนปลายโคนชี้ลงที่พื้นพายุทอร์นาโดเกิดจากการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็น ซึ่งโดยปกติแล้วมักพบในทวีปอเมริกาเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก ความรุนแรงของพายุชนิดนี้ไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้พายุชนิดนี้อีนตรายที่สุด
ในช่วงสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีพายุเข้าแบบนี้อย่าลืมพกร่มและดูแลสุขภาพกันด้วยนะคะด้วยความห่วงใยจากสำนักข่าวไทย-.