กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีเผยสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยเริ่มแผ่วลง หลังสิ้นสุดมาตรการเยียวยา แนะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เน้นกลุ่มที่รายได้ได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างจำกัดกว่า 15 ล้านคน ช่วยฟื้นการบริโภค
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนเดือนสิงหาคมในหมวดสินค้าคงทนปรับดีขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยยอดขายรถใหม่และราคารถมือสองขยับดีขึ้นหลังผ่านจุดต่ำสุดในช่วงล็อกดาวน์ แต่ถือเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นชั่วคราว เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ดัชนีการบริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน สินค้ากึ่งคงทน และการใช้จ่ายในภาคบริการมีสัญญาณแผ่วลง หลังมาตรการจ่ายเงินเยียวยาสิ้นสุดลง ประกอบกับปัจจัยพิเศษวันหยุดยาวที่ดึงดูดการท่องที่ยวไปแล้วในเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันจากสภาพตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง สะท้อนจากจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์งาน ณ เดือนสิงหาคมที่ยังคงเพิ่มขึ้น โดยอยู่ที่ 440,000 คน และความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการหารายได้ในอนาคตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น มีโอกาสที่แรงส่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะอ่อนแรงลงไปอีก
นอกจากนี้ ข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินจากหลากหลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์มีทิศทางเริ่มแผ่วลงในเดือนกรกฎาคม สะท้อนจากมูลค่าการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรเดบิต มูลค่าการใช้จ่ายผ่านมือถือ รวมทั้งการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ ที่เริ่มแผ่วลงในช่วงต้นไตรมาส 3 เช่นเดียวกัน
สำหรับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายหลังคลายล็อกดาวน์ ได้แก่ มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (เที่ยวปันสุข-เราไปเที่ยวกัน-กำลังใจ) ที่เชื่อมโยงไปกระตุ้นการใช้จ่ายด้วย และที่จะเปิดให้ลงทะเบียนในเดือนตุลาคมนี้ คือ มาตรการ “คนละครึ่ง” โดยรัฐจะจ่ายให้ 50% ของยอดใช้จ่ายไม่เกิน 3,000 บาท เป็นจำนวน 10 ล้านคน ประเมินว่าจะมีส่วนพยุงกำลังซื้อของคนในประเทศ ทำให้สินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันยังขยายตัวได้ อีกทั้งจะช่วยพยุงกิจการของผู้ประกอบการรายเล็ก
พร้อมแนะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด เช่น ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทและธุรกิจเอกชน ไม่รวมกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ที่มีอยู่ประมาณ 15.5 ล้านคน หรือประมาณ 40% ของตลาดแรงงาน เพื่อช่วยกระตุ้นในกลุ่มนี้ใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ในรูปแบบมาตรการที่นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือเป็นเงินสดคืนให้เป็นร้อยละของยอดใช้จ่าย (Cash Back) .-สำนักข่าวไทย