กทม.5 ต.ค.-ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกฟ้อง“พล.ต.อ.จักรทิพย์”ปมตั้ง “พล.ต.อ. สุวัฒน์ ” เป็น ผบ.ตร. ชี้ ’สันธนะ’ ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งชั้นตรวจฟ้องคดีนายสันธนะ ประยูรรัตน์ ฟ้อง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157
โดยนายสันธนะ ได้กล่าวหา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คนปัจจุบัน ว่า ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ร่ำรวยผิดปกติมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นต่อเนื่องระหว่างเดือนพฤศจิกายน2544 ถึงเดือนธันวาคม 2546 โดยได้กล่าวอ้างในคำฟ้อง ระบุว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ ขณะเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 7 ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเข้าไปดำเนินการหรือใช้ให้ผู้อื่นจัดการควบคุมกำกับดูแลบ่อนการพนัน ที่อยู่ในความรับผิดชอบทำให้มีเงินฝากในบัญชีธนาคารกว่า 13 ล้านบาท และมีรายการถอนเงิน 11 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ได้มานอกเหนือจากเงินเดือนปกติ
โจทก์ได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมทางคดีและร้องเรียนทางวินัยต่อจำเลยและขอให้จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร่งด่วน แต่ จำเลยกลับไม่ดำเนินการและช่วยเหลือ ปกปิด ไม่นำเรื่องที่โจทก์ร้องคัดค้าน เข้าวาระการประชุมเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อีกทั้งยังเสนอชื่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ให้ดำรงตำแหน่งอีก การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ศาลพิเคราะห์คำฟ้องและเอกสารท้ายฟ้องของโจทก์แล้วเห็นว่า ความผิดที่โจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ต้องมีองค์ประกอบเรื่องเจตนาพิเศษในการกระทำโดยมุ่งหมายจะให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่โจทก์บรรยายฟ้อง เพียงว่าจำเลยในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็นผู้บังคับบัญชาของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายให้ปรากฏว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น จำเลยกระทำโดยเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อย่างไร
การฟ้องของโจทก์ จึงขาดองค์ประกอบความผิดย่อมเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจรณาความอาญามาตรา158 (5) ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพ. ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น เป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ อันเป็นความผิดอาญาแผ่นดินและเป็นความผิดต่อรัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย เอกชนคนหนึ่งคนใดย่อมไม่เป็นผู้เสียหาย ดังนั้นการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องดังกล่าว หาได้เป็นการกระทำต่อโจทก์โดยตรงและก่อให้เกิดความเสียหาย หรือกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของโจทก์โดยตรงไม่ โจทก์ย่อมไม่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ จึงไม่เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจรณาความอาญามาตรา 2 ( 4) และไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 พิพากษายกฟ้อง.-สำนักข่าวไทย