กทม. 25 ก.ย.-สาวโพสต์ถูกโอนเงินออกไป DB Internet ไม่รู้เข้าบัญชีใคร ยืนยันไม่ได้ผูกบัตรกับที่ไหน ขณะที่ธนาคารก็ยังไม่รู้ว่าปลายทางคือใคร ด้านผู้เชี่ยวชาญระบุมีข้อมูลเกิดขึ้นกับหลายธนาคาร แนะอย่าเก็บวงเงินสูงในบัญชีที่ผูกกับบัตรเดบิต
เมื่อวานนี้ (24 ก.ย.) เฟซบุ๊ก Wilailuck Salima หรือคุณแนน ได้โพสต์เรื่องราวเตือนภัยว่าเงินในบัญชีหายไปอย่างลึกลับเข้า DB Internet โดยที่ธนาคารก็ยังตอบไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร ทั้งนี้ คุณแนนได้เผยภาพเงินของเธอที่ถูกโอนออกจากบัญชีเมื่อเวลา 04.45 น. ของวันที่ 22 กันยายน 2563 โดยที่เงินออกไปจำนวน 5 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,927.66 บาท ชำระไปยัง DB Internet ซึ่งเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้เป็นคนทำธุรกรรมใดๆ แน่นอน โดยทั้งสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็มก็อยู่กับตัว เมื่อตื่นนอนและเห็นว่าเงินออกจากบัญชีก็ตกใจ เข้าไปดู Statement แต่ปรากฏว่าไม่เจอทั้งเลขบัญชีที่ชำระ ข้อมูลของปลายทางและอื่นๆ จึงโทรหาคอลเซ็นเตอร์ธนาคาร แต่ก็โทรไม่ติด จึงปรินท์หลักฐานต่างๆ ไปให้ธนาคารตรวจสอบ ซึ่งธนาคารบอกว่าเงินที่ออกไปนั้นเป็นการชำระผ่านบัตรเดบิต โดยคุณแนนยืนยันว่าไม่ได้ผูกบัตรไว้ที่ไหน แต่เคยใช้บัตรนี้จ่ายค่าตั๋วเครื่องบิน ค่าที่พัก แต่ทุกครั้งที่จ่ายจะมีรหัส OTP มาให้ยืนยัน อย่างไรก็ตาม 1 วันก่อนที่เงินจะออกจากบัญชี ยอมรับว่าได้ใช้บัตรนี้ในการชำระเงินค่าที่พักแห่งหนึ่ง และจำนวนเงินก็หักไปตามยอด
ด้านธนาคารแนะนำให้แจ้งความและนำเรื่องมายื่นกับธนาคาร พร้อมเขียนใบคำร้องต่างๆ ซึ่งทางธนาคารจะส่งเรื่องไปที่สำนักงานใหญ่ หากตรวจสอบแล้วว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ธนาคารจะโอนเงินคืนให้ใน 30-90 วัน ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะธนาคารไม่สามารถไปดึงเงินคืนจาก DB Internet ได้ เนื่องจากไม่ทราบว่า DB Internet คือเว็บไซต์ หรือแอปอะไร ตอนนี้คุณแนนถอนเงินออกมาจากธนาคารหมดแล้ว ยอมรับว่ากลัว
ด้านเฟซบุ๊ก Dama-addict ได้มาร่วมตีแผ่เรื่องนี้ และพบว่ามีหลายคนที่ถูกหักเงินไปจาก DB Internet เช่นกัน เพิ่งโดนไปไล่ๆ กันเมื่อกลางเดือนก็มี และเกิดขึ้นในหลายธนาคาร ซึ่งมีบางคนมาให้ข้อมูลว่า กรณีนี้อาจจะเป็นการแฮกข้อมูลบัตร แล้วเอาไปซื้อของผ่านอินเทอร์เน็ตในประเทศเยอรมนี
หนึ่งในคอมเมนต์บอกว่า ‘’DB Internet ย่อมาจาก Deutsche Bahn Internet Berlin DEU (Deutschland) ในยุโรปก็มีมิจฉาชีพเอาเลขบัตร Debit / Credit คนอื่นไปซื้อตั๋วรถไฟของ Deutsche Bahn บ่อยๆ ถ้าเป็นบัตรในยุโรปโดน Fraudulent Charge จะดึงเงินคืนให้ทันทีไม่วุ่นวาย แต่บัตรไทยก็แล้วแต่แบงก์ แล้วแต่บัตร ถ้าบัตรเดบิตก็ยุ่งยากหน่อยไม่เหมือนบัตรเครดิตที่หลายบัตรมีนโยบาย Chargeback ให้เลย
คับข่าวครบประเด็นตรวจสอบประเด็นนี้กับอาจารย์ ปริญญา หอมเอนก ผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์และความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องร้ายแรง และจากการตรวจสอบพบว่ามีลูกค้าหลายธนาคารโดนในลักษณะคล้ายกันในช่วง 1-2 วันนี้ ซึ่งบัตรเดบิต เป็นบัตรที่มีเงินในบัญชีอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้จ่าย เงินจะถูกตัดออกจากบัญชีทันที แตกต่างจากบัตรเครดิต ที่รูดไปก่อน แล้วมาจ่ายทีหลังยังไม่ถูกตัดเงิน ดังนั้นกรณีที่เกิดขึ้นแม้จะมียอดการโอนออกต่อครั้งไม่สูง แต่เชื่อว่าเมื่อรวมยอดความเสียหายทั้งหมดอาจเป็นหลักล้าน ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วดูเหมือนว่าปลายทางที่โอนไปน่าจะเป็นต่างประเทศ ซึ่งไม่น่าจะใช่ประเทศเดียว อาจมีบัญชีโดนแฮกแล้วแฮกต่ออีกที อย่างไรก็ตามต้องรอการตรวจสอบที่ชัดเจนจากธนาคาร
มีคำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการป้องกันตัวเองจากอาจารย์ปริญญา ควรตรวจสอบบัตรเอทีเอ็มของตัวเราเอง ว่าเป็นบัตรเดบิตหรือไม่ โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ผู้ให้บริการบนบัตร (วีซ่า มาสเตอร์การ์ด) ถ้าใช่ ควรโทรไประงับให้เป็นบัตรเอทีเอ็มปกติ ส่วนบัญชีที่จะผูกกับบัตรเดบิต ควรเปิดบัญชีเฉพาะที่ใส่วงเงินไว้ไม่สูง ประมาณ 500-1000 บาท ไว้สำหรับตัดจ่ายบริการทั่วไปซึ่งปกติราคาไม่สูง อาจจะหลักร้อย ที่สำคัญอย่าผูกบัตรเดบิตไว้กับบัญชีเงินเดือน.-สำนักข่าวไทย