รัฐสภา 24 ก.ย.- รัฐสภาถกต่อญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ถวิล เปลี่ยนศรี” บอก อย่าคาดหวังรัฐธรรมนูญจะแก้ได้ทุกปัญหา เตือน ตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ อาจขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ สถานการณ์ขัดแย้ง แตกแยก ไม่เหมาะแก้รัฐธรรมนูญ
การประชุมร่วมกันของรัฐสภา วันนี้ (24ก.ย.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช …. รวม 6 ฉบับ ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 โดยส่วนใหญ่ ส.ส.จากรัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นสอดคล้องกัน ที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของประเทศ โดยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาดำเนินการ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และเกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ขณะที่ นายถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว. อภิปรายว่า จะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ไม่เอาผลประโยชน์ส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง หรืออยู่ภายใต้การครอบงำ โดยจะไม่หวั่นไหวต่อทั้งเสียงเชียร์และเสียงแช่ง และเมื่อพิจารณาแล้ว ก็ไม่อาจเห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ โดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ส่วนร่างที่แก้ไขเป็นรายมาตราหลักการพอรับได้ แต่รายละเอียดยังรับไม่ได้ จึงเป็นเหตุผลที่ขอไม่รับหลักการ
“แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ แต่ก็ไม่ได้เป็นทุกอย่างของชีวิตประชาชน ของประเทศ รัฐธรรมนูญไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะแก้ปัญหาได้ รัฐธรรมนูญแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการว่างงานไม่ได้ แก้ปัญหาการศึกษาไม่ได้ ยับยั้งโควิด-19 ไม่ได้ ดังนั้น อย่าไปคาดหวังมากกับรัฐธรรมนูญ ว่าจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้” นายถวิล กล่าว
นายถวิล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ถูกยกย่องว่าดีที่สุด สร้างขึ้นโดย ส.ส.ร. แต่ท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็ไปไม่ได้ อะไรที่ไม่ห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญ ผู้ใช้ก็บิดเบือนมาแล้ว ถ้ามีรัฐธรรมนูญดี คนใช้ก็ต้องดีด้วย หากมีรัฐธรรมนูญดี คนใช้ไม่ดี ไม่จิตสำนึก ต่อให้รัฐธรรมนูญดีแค่ไหน ก็ไม่มีประโยชน์ ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่อยู่ที่เหตุผลว่าเพียงพอหรือไม่
นายถวิล ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง ส.ว. หนึ่งในสาม หรือ 84 เสียง ดังนั้น ต้องบอกว่าถ้ าประเด็นในการแก้ไขมีเหตุผล เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ส.ว.ทั้ง 250 เสียง ก็อาจเห็นชอบ ไม่เว้นแม้แต่ข้อที่บอกว่า จะทำให้ ส.ว. ได้ประโยชน์ เรียกเป็นภาษาวัยรุ่นได้เลยว่า ได้หมดถ้าสดชื่น
นายถวิล กล่าวว่า ส่วนการจะแก้ไขอย่างไรนั้น รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ไม่มีข้อกำหนดว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีแต่การแก้ไขเพิ่มเติม การจะตั้ง ส.ส.ร. รื้อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ อาจจะไม่สอดคล้องกับเจตนาของรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง อาจจะขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ เคยให้แนวทางว่า อำนาจในการสถาปนารัฐธรรมนูญ เป็นของประชาชน ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภา
“รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ผ่านการทำประชามติ การจะแก้ไขหรือร่างใหม่ ต้องกลับไปที่ประชาชนอีกครั้ง โดยต้องผ่านการทำประชามติ 3 ครั้ง ใช้งบประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เป็นเงินที่สูงมาก และไม่ควรจะเสียเวลา เพราะเป็นช่วงที่ประเทศชาติกำลังมีปัญหา อีกทั้ง การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในขณะนี้ ที่มีความแตกแยก” นายถวิล กล่าว
นายถวิล ยังตั้งคำถามว่า การแก้รัฐธรรมนูญ โดยตั้ง ส.ส.ร. เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือไม่ และการตัดอำนาจของ ส.ว. เรื่องการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เรื่องนี้ก็ผ่านประชามติของประชาชนมาแล้วเช่นกัน .- สำนักข่าวไทย