10 ก.ย.-กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และกิจกรรมวิธีสมุดบันทึก เพื่อพัฒนาและสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้ประชาชนในท้องถิ่น
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และกิจกรรมวิธีสมุดบันทึก ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เพื่อพัฒนาระบบหนังสือ วัฒนธรรมหนังสือและวิธีสมุดบันทึกซึ่งเป็นองค์ความรู้สำคัญ หรือการพัฒนาห้องสมุดอันเป็นแหล่งเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ โอกาสนี้ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้ นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม มาเป็นประธานในพิธี และ นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้มอบหมายให้ นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่าย และชุมชน เป็นผู้แทน โดยมี นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ นางสาวเกล้ามาศ ยิบอินซอย ผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน คณะผู้บริหารและเครือข่ายทางวัฒนธรรม ร่วมงาน
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม ประธานเปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และกิจกรรมวิธีสมุดบันทึก กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมมีหน้าที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อปลูกฝัง ส่งเสริมและเผยแพร่ให้ประชาชน เกิดความรัก หวงแหน ภาคภูมิใจงานด้านศิลปะ ศาสนา และวัฒนธรรมอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของประเทศ กิจกรรมซึ่งจัดขึ้นในวันนี้จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างพื้นที่เรียนรู้ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น และเผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ในการค้นคว้าหาข้อมูลประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ขนบธรรมเนียมประเพณี พระราชประวัติและงานศิลปะในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประชาชนทั่วไปจะเข้าร่วมกิจกรรมในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมากขึ้น
ด้าน นางมงคลทิพย์ รุ่งงามฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน (ผู้แทนอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดตั้งห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวันครั้งนี้ เพื่อให้พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน เป็นต้นแบบห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งการเรียนรู้ประจำพิพิธภัณฑ์ภายในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นศูนย์เผยแพร่องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกี่ยวกับพระราชนิเวศน์มฤคทายวันและองค์ความรู้อื่น ๆ แก่เด็ก เยาวชน และบุคคลทั่วไป โดยครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกช่วงวัย อาทิ เด็กและเยาวชน จะได้มีหนังสือเป็นเครื่องมือชักชวนเพื่อนๆ หรือผู้ปกครองมาทำการค้นคว้าหาข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และได้เข้าร่วมกิจกรรมในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันมากขึ้น ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์มีโอกาสเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับพระราชนิเวศน์ฯ อย่างเข้าใจลึกซึ้งตลอดจนได้ความรู้ด้านอื่น ๆ จากหนังสือขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ อีกทั้งพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเองก็จะมีช่องทางเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกแก่สาธารณชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อธิบดี สวธ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดสรรพื้นที่ภายในพระราชนิเวศน์มฤคทายวันสำหรับจัดตั้งห้องสมุดภายในพิพิธภัณฑ์ขึ้น ประกอบด้วย (1) ห้องสมุดเพื่อการศึกษาค้นคว้า โดยจะพัฒนาห้องสมุดให้เป็นแหล่งรวบรวมหนังสืออ้างอิงหรือเอกสารสำคัญที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติ ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณี งานศิลปะในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และหนังสืออ้างอิง เอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอันเป็นข้อมูลที่ไม่ปรากฏทั่วไป (2) ห้องสมุดศาลากลางแจ้ง เป็นแหล่งรวบรวมหนังสือทั่วไปและอนุญาตให้บุคคลทั่วไปยืมได้ หนังสือส่วนใหญ่จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ความรู้พื้นฐาน สภาพแวดล้อมบริเวณพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน รวมถึงหนังสือทั่วไป หนังสือสำหรับเด็ก ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ
สำหรับกิจกรรมภายในงานเปิดห้องสมุดในพิพิธภัณฑ์พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน นายมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 และเลขานุการมูลนิธิวิชาหนังสือ กล่าวว่า ผู้เข้าร่วมงานจะได้เยี่ยมชมภายในห้องสมุด และทำกิจกรรมวิธีสมุดบันทึก หรือเรียกว่า “วิชาหนังสือ” จะเป็นการฝึกเด็ก ๆให้รู้จักแสดงความคิด จินตนาการได้อย่างอิสระ ไม่ใช่การตีกรอบความคิดเหมือนการเรียนวิชาเรียงความทั่วไป ซึ่งเด็ก ๆ จะสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีศิลปะงานช่างไม้ ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ฝีมือช่างไม้ระหว่างกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีด้วย.-สำนักข่าวไทย