กรุงเทพ ฯ 9 ก.ย. – ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส.ค.อยู่ที่ 51.0 ฟื้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายจนถึงไตรมาส 4 ปีนี้ คาดมาตรการที่ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2563 อยู่ที่ 51.0 จาก 50.1 ในเดือนกรกฎาคม 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการในเดือนนี้ แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิดทั่วโลก อาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ดังนั้น จึงคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปอย่างน้อยจนถึงไตรมาส 4 ของปีนี้ จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลายตัวลง และมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิดและฟื้นความเชื่อมั่นผู้บริโภค
นายธนวรรธน์ เชื่อว่า หากไม่มีการระบาดของโควิดรอบ 2 อย่างรุนแรง มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาส 2 โดยจากนี้ไปตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ น่าจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ และแม้จะยังมีประเด็นการชุมนุมทางการเมืองอยู่เป็นระยะ แต่ก็มีแนวโน้มที่จะสามารถหาทางออกได้ผ่านกลไกของรัฐสภา เช่น กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเชื่อว่าสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองจะไม่มีความรุนแรง
ส่วนมาตรการที่ภาครัฐเตรียมจะนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีช่วยเหลือเรื่องการจ้างงาน และมาตรการคนละครึ่งที่กระตุ้นการบริโภคด้วยการให้เงิน 3,000 บาทแก่ประชาชน 15 ล้านคน โดยใช้งบประมาณ 45,000 ล้านบาท ซึ่งแม้จะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนขณะนี้ แต่หากประเมินเบื้องต้นมาตรการดังกล่าวนี้จะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นได้ถึง 90,000 ล้านบาท และหมุนเวียนในระบบได้ 2 รอบ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปีนี้ให้เพิ่มขึ้นได้ 1-1.5% อย่างไรก็ตาม ม.หอการค้าไทยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะมีโอกาสหดตัวน้อยลงที่ประมาณ -7.5%.-สำนักข่าวไทย