กรุงเทพฯ 9 ก.ย.-ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ส.ค.64 ถือว่าต่ำสุดเป็นประวัติการณ์หรือต่ำสุดในรอบเกือบ 23 ปี แตะ 39.6 เหตุล็อกดาวน์ฉุดเศรษฐกิจยังแย่จากพิษโควิด-19 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ส.ค. ต่ำสุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจ แตะ 19.8 เอกชนชี้ล็อกดาวน์กระทบเศรษฐกิจสูง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ประจำเดือน สิงหาคม 2564 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แตะระดับ 39.6 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หรือ ต่ำสุดในรอบเกือบ23ปี นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 โดยปัจจัยที่ส่งผลทำให้ดัชนีมีการปรับตัวลดลงนั้น เป็นผลมาจากความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นจนรัฐบาลต้องขยายพื้นที่ควบคุมสูงสุดเป็น 29 จังหวัด โดยออกมาตรการมาตรการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศแย่ลง ประกอบกับความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่มีเสถียรภาพน้อยลงและการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนที่ยังล่าช้า
ทั้งนี้ ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 33.8 โอกาสในการหางานทำ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 36.3 และรายได้ในอนาคต ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 48.6 โดยผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจาก ศบค. ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ดังนั้น ทำให้ศูนย์พยากรณ์ฯมองว่าโอกาสที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 0-2 มีโอกาสเป็นไปได้ โดยจะมีการปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้และคาดการณ์ปีหน้าใหม่อีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้
ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนสิงหาคม 2564 โดยพบว่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ทำการสำรวจมาอยู่ที่ระดับ 19.8 เป็นดัชนีที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ผลมาจากความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในประเทศไทยที่ยอดผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และภาวะเศรษฐกิจของประเทศทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยมาตรการควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด หรือ การล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการสั่งปิดกิจการทำให้ธุรกิจเริ่มขาดสภาพคล่องส่งผลให้มีการปลดคนงานเพิ่มขึ้นหรือมีการลดเงินเดือนอย่างต่อเนื่อง และความกังวลเกี่ยวจากเสถียรภาพทางการเมืองและสถานการณ์การชุมนุมต่างๆ ทำให้ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ โดยแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ที่ต้องการให้รัฐบาลดูแลนั้น คือ การเร่งจัดทำแผนการเปิดเมืองที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนเตรียมความพร้อม เร่งจัดหาและฉีดวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง และหาแนวทางป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ให้แพร่ระบาดในประเทศไทย มาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาเข้าไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ และต้องสร้างแผนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย