กระทรวงกลาโหม 31 ส.ค.-โฆษกกลาโหมเผยนายกฯ กำชับหน่วยขึ้นตรงดำรงความต่อเนื่องคุมการแพร่ระบาดโควิด เตรียมสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ หลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สั่งเหล่าทัพพึ่งตัวเอง ใช้เทคโนโลยีผลิตยุทโธปกรณ์แทนซื้อของนอก ย้ำทร.เสียสละตัดงบ 2 ปีซ้อน
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหมที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ว่า นายกรัฐมนตรีกำชับเรื่องการดำรงความต่อเนื่องการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมปฎิบัติตามแผนงานที่วางไว้อย่างเข้มงวด ขณะเดียวกันให้ร่วมกับต่างประเทศช่วยกันดูแลชายแดนทั้ง 2 ประเทศ ป้องกันการเข้าประเทศผิดกฎหมายและไม่ได้ควบคุมโรค
“นายกรัฐมนตรีขอให้กระทรวงกลาโหมเตรียมสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐ กรณีเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวและเตรียมซักซ้อมแผนรับมือด้วย ประสานหน่วยราชการดูแลพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ พร้อมกำชับกองทัพเรือโดยให้ศูนย์อ านวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล(ศรชล.) แก้ปัญหาขยะทางทะเล ลดปัญหามลภาวะทางทะเล” โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าว
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับเหล่าทัพดำเนินการเรื่องงานวิจัยมากขึ้น โดยขับเคลื่อนเทคโนโลยีทางทหาร เพื่อพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารให้สามารถสร้างขึ้นมาใช้เองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้แสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานนอกกระทรวงกลาโหม ทั้งสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ที่เป็นภูมิปัญหาของคนไทยในการสร้างนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ นำไปสู่การประดิษฐ์และใช้เองในกองทัพ เพื่อการพึ่งพาตัวเองอย่างแท้จริง เริ่มตั้งแต่โครงการขนาดเล็กขึ้นมา ส่วนยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นต้องซื้อ ให้พิจารณาเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพ และให้พิจารณาซื้อจากในประเทศก่อน โดยเฉพาะยุทโธปกรณ์ภายใต้บัญชีนวัตกรรมที่กำหนด พร้อมกำชับการฝึกทหารใหม่ต้นเดือนกันยายน 2563 ให้ฝึกภายใต้นิว นอมอล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ โควิด-19
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้(31 ส.ค.) หารือโครงการจัดหาเรือดำน้ำว่าเป็นโครงการภายใต้วงเงินของกองทัพเรือ ผูกพันงบประมาณข้ามปี 2563 ซึ่งผ่านสภาฯ และได้บรรจุในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 แล้ว ยืนยันว่างบจัดหาเรือดำน้ำเป็นงบที่ได้รับการจัดสรรทุกปีและเป็นงบผูกพันปกติ ไม่ได้จัดสรรงบจากส่วนอื่นมาเพิ่ม ซึ่งภาพรวมกองทัพได้งบประมาณทั้งหมด 6.77 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งความจำเป็นของเรือดำน้ำ ประเทศไทยต้องมีเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล กองทัพเรือจึงมองถึงความจำเป็นในการป้องกันความมั่นคงของประเทศในทุกมิติ
พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นจุดศูนย์กลางยุทธศาสตร์เชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดีย และแปซิฟิค ผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านบาทต่อปี ประกอบด้วยอุตสาหกรรมขนส่งทางทะเล คิดเป็น 95 เปอร์เซ็นต์ หรือ 20 ล้านล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเลียมที่มีอยู่ 30 แท่นขุดเจาะ มีคนทำงานอยู่เป็นหมื่นคน มีมูลค่า 3 แสนล้านบาท ภาคประมงอีก 2 แสนล้านบาท มีชาวประมงที่ประกอบอาชีพหลายแสนคน การท่องเที่ยวอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลที่เราต้องดูแล
โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า เขตเศรษฐกิจจำเพาะ หรือ เจดีเอ ที่กำหนดร่วมกันจะสิ้นสุดปี 2572 สถานการณ์ทางทะเลไม่ใช่ว่าจะดี มีความขัดแย้งกันในทะเลจีนใต้ ความไม่ชัดเจนเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นหลังปี 2572 อาจมีความขัดแย้งระดับต่ำ ที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งได้ ดังนั้น การปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลต้องมีให้ครบทุกมิติ ผิวน้ำ บนฟ้า แผ่นดิน และใต้น้ำ ซึ่งกองทัพเรือมองครบทุกมิติ โดยเฉพาะมิติใต้น้ำด้วย แต่เขายอมเจียดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับทางบก ผิวน้ำ บนฟ้า เพื่อให้ลงใต้น้ำให้ได้ เพื่อทำงานให้ครบทุกมิติ ขอเรียนว่ามีความจำเป็นเพราะกว่าจะต่อเรือดำน้ำได้ 6-7 ปีต่อหนึ่งลำ ซึ่งเจดีเอ ที่จะสิ้นสุดในปี 72 มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอะไรขึ้นได้
“สัญญาที่ทำกันนั้นถูกต้อง ไม่อยากให้บิดเบือน อีกทั้งสัญญาเรือดำน้ำลำที่1 ได้ดำเนินการจบไปแล้ว เมื่อมาถึงการดำเนินการลำที่ 2 และ 3 ทราบถึงความกังวลของ คณะกรรมาธิการฯ นายกรัฐมนตรีจึงประสานให้กองทัพเรือเลื่อนการจัดหาไปก่อน ขณะนี้ กองทัพเรือยอมสละงบประมาณในส่วนนี้ ดังนั้น ในรอบแรก 3,375 ล้านบาท และปีนี้กองทัพเรือก็ยอมเสียสละงบปี 64อีก วงเงิน 3,925 ล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด ติอยากให้เข้าใจเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล เพื่อให้กองทัพมีความเข้มแข็ง ปกป้องอธิปไตย” พล.ท.คงชีพ กล่าว.-สำนักข่าวไทย