วันนี้ ( 21ส.ค.63 ) ที่ การชุมนุมกันที่บริเวณหน้าสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ถ.ปู่เจ้าสมิงพราย จ.สมุทรปราการ กลุ่มองค์กรแรงงาน ในนาม #สมัชชาแรงงานแห่งชาติ และเครือข่ายแรงงานต่อต้านการคุกคามประชาชน ร่วมกันจัดชุมนุมใหญ่เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนหนุ่มสาวทั่วประเทศภายใต้การนำของเครือข่าย #เยาวชนปลดแอกและประชาชนปลดแอก
โดยผู้ชุมนุมอันประกอบไปด้วยสมาชิกจากสหภาพแรงงาน สมาพันธ์แรงงาน สภาองค์กรลูกจ้าง และองค์กรแรงงานกว่า 109 องค์กรในทุกสาขาอุตสาหกรรม ต่างรวมตัวกันแสดงจุดยืนผ่านการร่วมชุมนุมและการปราศรัยบนเวที โดยมีผู้แทนจากองค์กรแรงงานต่างๆผลัดกันขึ้นมาพูดคุยในประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเดือดร้อนของประชาชนในด้านเศรษฐกิจปากท้อง
โดยประเด็นที่ผู้แทนองค์กรแรงงานต่างๆแสดงความคิดเห็นเป็นจุดร่วมเดียวกัน คือการเน้นย้ำความเกี่ยวข้องกันระหว่างปัญหาการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นว่าการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลที่ไม่ได้เป็นผู้แทนเจตนารมณ์ของประชาชน และสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มทุนมากกว่าคนรากหญ้า ล้วนเป็นสิ่งที่นำมาสู่ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนในปัจจุบัน พร้อมทั้งเน้นย้ำความเรียกร้องต้องการของกลุ่มแรงงาน ในการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นในประเทศไทย
ชี้การจ้างงานแรงงานนอกระบบไม่เป็นธรรม-กฎหมายซ้ำเติมสกัดการรวมตัวต่อรอง ย้ำชัดจุดยืนหนุนเยาวชนแก้ รธน.เปิดทางโละระบบจ้างงานเยี่ยงทาส]
อาทิเช่น การปราศรัยของ ธนกิจ สาโสภา อดีตประธานสหภาพแรงงานฮอนด้าประเทศไทย และที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฮอนด้าประเทศไทย ที่ปราศรัยถึงสภาพการจ้างงานของแรงงานในปัจจุบัน ที่ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบหรือนอกระบบ ต่างก็ประสบกับปัญหาจากระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมทั้งสิ้น โดยเฉพาะในส่วนของแรงงานนอกระบบ
เพราะวันนี้ตามกฎหมายแล้วแรงงานนอกระบบที่เป็นสัดส่วนใหญ่มากของแรงงานทั้งหมด ยังคงไม่มีสิทธิในการรวมตัว เช่นแรงงานที่เอางานไปทำที่บ้าน ไม่มีสิทธิที่จะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานก็ไม่มีใครรับผิดชอบ ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะกฎหมายไม่อนุญาตให้เรารวมตัวกัน คนงานเรียกร้องสิทธิการรวมตัว เจรจา ต่อรอง ให้เกิดเงื่อนไขตามอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศมานาน แต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนอง
กฎหมายวันนี้มีแต่การเอื้อให้แรงงานไม่สามารถรวมตัวต่อรองได้ นี่จึงถือว่าแรงงานวันนี้ไม่มีเสรีภาพ ถ้าไม่กำจัดระบบการจ้างงานแบบนี้ออกไปจากประเทศไทยตั้งแต่วันนี้ ในอนาคตของลูกหลานเราที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ก็จะต้องมาทำงานในระบบการจ้างงานที่ไร้เสรีภาพและไม่มีความมั่นคงในชีวิต วันนี้แรงงานไม่มีอะไรค้ำประกันความมั่นคงในชีวิต คนรุ่นหลังก็กำลังจะจบออกมาตกงาน รัฐบาลไม่เคยมองเห็นปัญหาเหล่านี้
นายพันธกิจยังระบุทิ้งท้ายด้วย ว่าดังนั้นการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้กฎหมายการจ้างงานต้องรับรองสิทธิของแรงงานในการรวมตัวจะต้องเกิดขึ้น และถ้ารัฐบาลยังดื้อดึงไม่ปฏิรูป ไม่เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ และไม่หยุดคุกคามประชาชน เราแรงงานจะยกระดับการชุมนุมอย่างแน่นอน
[หมดเวลาสู้แค่ปากท้องเฉพาะหน้าในโรงงาน – แรงงานลั่น! ต้องสู้ทางการเมืองด้วยให้เกิดรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนทุกคน]
ด้านเพชร โสภาบุตร ตัวแทนแรงงานจากกลุ่มยานยนต์ ระบุว่า วันนี้เรามาร่วมกันแสดงพลังร่วมกับลูกหลานของเราไปสู่เป้าหมาย การชุมนุมของเยาวชนมีหนึ่งความฝัน เรากรรมกรก็มีหนึ่งความฝันเช่นกัน นั่นคือเรื่องของรัฐสวัสดิการนั่นเอง
นายเพชรระบุว่าที่ผ่านมาเวลาเราเรียกร้องสวัสดิการอะไร เราได้แต่เรียกร้องจากนายจ้างของตัวเอง แต่วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะเรียกร้องจากรัฐให้เกิดรัฐสวัสดิการขึ้นมา ที่ผ่านมารัฐผลักแรงงานให้ไปสู้รบกับนายจ้างให้ได้มาซึ่งสวัสดิการด้านต้างๆ ถ้าได้ก็ดี ไม่ได้ก็ลำบากกันต่อไป ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่รัฐควรจะผลักภาระมาที่ลูกจ้างและนายจ้าง แต่รัฐสวัสดิการต่างหาก คือสิ่งที่ควรเกิดขึ้น
ที่ผ่านมาตนถูกถามอยู่เสมอว่าจะเอาเงินที่ไหนมาทำรัฐสวัสดิการ คำตอบของตนก็คือก็ถ้าเราไม่ซื้อเรือดำน้ำ ไม่ซื้อเครื่องบิน VIP ทุกปีๆแบบที่เราทำทุกวันนี้ เราสามารถทำสวัสดิการให้ประชาชนได้หลายด้านแล้ว ภาษีประชาชนควรจะต้องนำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม เสมอภาค ทั่วถึง
ที่ผ่านมาเรามักจะถูกวิจารณ์ว่าแรงงานอย่าไปพูดถึงเรื่องการเมืองเลย มุ่งเรื่องปากท้องในโรงงานของเราดีกว่า แต่วันนี้ตนขอบอกว่าเราหยุดพูดถึงการเมืองไม่ได้แล้ว การเรียกร้องที่ผ่านมาของแรงงานในโรงงาน สวัสดิการที่ได้มาเราก็ได้แค่คนกลุ่มหนึ่ง แต่มันไปไม่ถึงประชาชนทั่วประเทศ ดังนั้นเราจะไม่หยุดแค่เรื่องปากท้องของเราอีกต่อไป แต่เราต้องขับเคลื่อนในทางการเมือง ให้เกิดสวัสดิการไปถึงประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง จากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน
ทำไมสวัสดิการข้าราชการมีสวัสดิการดูแลตัวเองจนถึงวันเกษียณจนตาย แต่คนงานที่เป็นประชาชนธรรมดาต้องไปฝากความหวังที่เงินประกันสังคมที่ได้บ้างไม่ได้บ้าง วันนี้เรามองในฐานะคนไยคนหนึ่ง สวัสดิการจากรัฐต้องได้รับการจัดสรรอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่สวัสดิการแบบเลือกปฏิบัติอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
[“จุฑาทิพย์” หวิดถูกชายคล้ายตำรวจนอกเครื่องแบบอุ้มลงเวทีระหว่างการกล่าวปราศรัย แรงงานร่วมป้อง-ไล่พ้นที่ชุมนุม]
อย่างไรก็ดี ระหว่างการปราศรัยของจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนที่มาร่วมเวทีพบปะกับผู้ใช้แรงงานในวันนี้ ปรากฏชายหัวเกรียนกลุ่มหนึ่งพยายามขึ้นไปบนเวทีเพื่อฉุดกระชากจุฑาทิพย์ลงจากเวที ทำให้กลุ่มแรงงานที่นั่งฟังกรปราศรัยอยู่ข้างล่างเวที ต่างแสดงความไม่พอใจ จนก่อให้เกิดเหตุชุลมุนขึ้นเล็กน้อย แต่สถานการณ์ก็คลี่คลายลงไปได้ เมื่อฝ่ายผู้ดูแลจัดการชุมนุม ได้เชิญตัวกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวออกจากพื้นที่ไป
จากนั้น ในช่วงท้ายของเวทีการชุมนุม บรรดาตัวแทนผู้นำแรงงานจากองค์กรต่างๆ ได้ร่วมกันขึ้นเวทีพร้อมอ่านแถลงการณ์สมัชชาแรงงานแห่งชาติ และเครือข่ายแรงงานต่อต้านการคุกคามประชาชน อันนี้เนื้อหาดังนี้:
“จากสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันได้มีความเหลื่อมล้ำที่ขยายออกอย่างต่อเนื่องภายใต้รัฐบาลตลอด 6 ปีที่ผ่านมา การละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้นในวงกว้าง สหภาพแรงงานถูกคุกคามจากรัฐบาลทั้งทางตรงและโดยอ้อม กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีความสัมพันธ์แนบชิดกับรัฐบาล ส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศตกต่ำ ไม่สามารถต่อรองได้ และเมื่อเกิดวิกฤติโรคระบาดก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำยากจนที่ฝังรากลึกในประเทศนี้ ผู้คนนับล้านสูญเสียงาน กลุ่มนายจ้างจำนวนมากฉกฉวยช่องว่างทางกฎหมายในการเลิกจ้าง บังคับลาออกเปลี่ยนสภาพการจ้าง ผู้ใช้แรงงานจำนวนมหาศาลต้องใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง รอคอยการถูกเลิกจ้าง ลดเงินเดือน อย่างไร้อำนาจการต่อรอง เพราะกลไกทางกฎหมายและรัฐสภาก็ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ ประเด็นที่ก้าวหน้าที่นำเสนอโดยชนชั้นแรงงาน เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไข หรือ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติก็ถูกยื้อเวลา จนทำให้ขบวนการแรงงานทั้งผองรู้สึกสิ้นหวังในกลไกสืบทอดอำนาจของรัฐบาลที่ทำให้รัฐสภาไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง
ความเดือดร้อนแผ่ไปทุกหย่อมหญ้า กลุ่มคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิต และนักศึกษาที่มองเห็นถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมและความสิ้นหวังของประเทศนี้ได้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองสู่ความเป็นประชาธิปไตย กลับถูกคุกคามจากอำนาจรัฐ ถูกตั้งข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม แม้ความต้องการของพวกเขาจะเป็นเพียงแค่การปรารถนาความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และสังคมที่เท่าเทียมอันเป็นข้อเสนอเดียวกันกับขบวนการแรงงานทุกยุคทุกสมัย ที่ผู้นำแรงงานจำนวนมากนำชีวิตเข้าเสี่ยงภัย ถูกสังหารและอุ้มหายมาตลอดหลายสิบปี การคุกคามประชาชน คือการทำลายประชาธิปไตย ทำลายสิทธิในการส่งเสียง คือการทำลายขบวนการแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน สมัชชาแรงงานแห่งชาติจึงขอประกาศแถลงข้อเรียกร้อง สี่ประการดังนี้
- หยุดคุกคามประชาชนทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงโดยใช้กฎหมายที่ไม่มีความชัดเจน หรือทางอ้อมในการกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจแทรกแซงการเคลื่อนไหว หรือการข่มขู่ประชาชนในรูปแบบต่างๆ
- แก้ไขรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อระบอบอำนาจนิยม ยกเลิกการรองรับคำสั่งประกาศและการกระทำของ คสช. และหัวหน้า คสช. เพื่อให้ผู้คนสามารถโต้แย้งรัฐธรรมนูญได้ และยกเลิกสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้งที่เป็นกลไกสำคัญต่อการสืบทอดอำนาจ พร้อมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ที่ต้องมีคุณสมบัติสามประการ ดังต่อไปนี้ 1) อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงพร้อมทั้งต้องมีหลักประกันด้านสิทธิเสรีภาพทั้งในความคิดและการแสดงออก 2) ต้องมีหลักประกันด้านความเสมอภาค และ 3) ต้องมีหลักประกันด้านคุณภาพชีวิต
- ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คืนอำนาจให้ประชาชน
- เดินหน้าสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อรับประกันเสรีภาพในชีวิต และสร้างสังคมประชาธิปไตย”
.
ภาพถ่ายโดย ชำนาญวุฒิ สุขุมวานิช ช่างภาพสำนักข่าวไทย อสมท